กรมเจรจาฯ จับมือกรมปศุสัตว์ พบเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมโคเนื้อเพื่อรองรับการค้าเสรี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 26, 2018 14:08 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรม เจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์ จะลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 22 มีนาคม 2561 ณ จังหวัดนครพนม และจังหวัดสกลนคร และจัดสัมมนาเรื่องการเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมโคเนื้อและผลิตภัณฑ์รองรับการค้าเสรี ในวันที่ 23 มีนาคม 2561 ณ โรงแรมฟอร์จูนริเวอร์วิว จังหวัดนครพนม ซึ่งการลงพื้นที่และจัดสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคเนื้อ ทั้งกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ กลุ่มผู้เลี้ยง และกลุ่มผู้ค้า รับมือการเปิดตลาดเสรีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ตลอดจนแนะนำลู่ทางและโอกาสการทำตลาด

นางอรมน เสริมว่า สืบเนื่องจากการที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยดึงศักยภาพท้องถิ่น สร้างโอกาสและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดที่มีรายได้น้อย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการติดตามการเตรียมความพร้อมและให้ข้อมูลช่องทางการใช้ประโยชน์แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจากการค้าเสรีที่เกิดขึ้น โดยล่าสุดได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์จัดสัมมนาเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการค้าเสรีในอุตสาหกรรมโคเนื้อ ในวันที่ 23 มีนาคม 2561 ณ จังหวัดนครพนม โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมโคเนื้อตลอดห่วงโซ่มูลค่า และวิทยากรจากหลายภาคส่วน เข้าร่วม อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สถาบันอาหาร สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคขุน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป หอการค้าไทย เป็นต้น โดยในวันที่ 22 มีนาคม 2561 จะลงพื้นที่พบปะเกษตรกร บริษัทนครพนมบีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มเกษตรกรบ้านท่าเยี่ยม จ. นครพนม และสหกรณ์โพนยางคำ จ. สกลนคร ซึ่งการผนึกความร่วมมือระหว่างกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมปศุสัตว์โดยใช้การตลาดนำการผลิต ทำให้มั่นใจได้ว่าอุตสาหกรรมโคเนื้อจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ได้โคที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาด สามารถหาตลาดส่งออกรองรับได้ พร้อมทั้งรักษาตลาดภายในประเทศพร้อมรับการเปิดเสรีตลาดเนื้อโคหลังเปิดตลาด FTA ให้แก่ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

นางอรมน ให้ข้อมูลว่า ในส่วนการเปิดการค้าเสรีโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันไทยเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าโคมีชีวิตที่ 5% เนื้อโคแช่เย็นแช่แข็ง 50% และเนื้อโคแปรรูป 30 – 50% แต่ได้ยกเว้นภาษีโคมีชีวิต เนื้อโคแช่เย็นแช่แข็ง และเนื้อโคแปรรูปให้กับสมาชิกอาเซียนภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งสมาชิกอาเชียนก็เก็บภาษีที่ 0% กับไทยเช่นกัน ยกเว้นลาวเก็บภาษีนำเข้าโคมีชีวิต 3% และเก็บภาษีนำเข้าเนื้อโคแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปที่ 5% และเวียดนามเก็บภาษีนำเข้าเนื้อโคแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปที่ 5% นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงที่อาเซียนทำกับจีน ไทยและจีนได้เปิดเสรีสินค้าเนื้อโคเก็บภาษี 0% ระหว่างกันแล้ว สำหรับประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย ไทยยังมีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษจำกัดเพดานปริมาณการนำเข้าในเนื้อวัวและเครื่องในวัวจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ที่ความตกลง FTA มีผลใช้บังคับ แต่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ไทยจะต้องยกเลิกการกำหนดเพดานปริมาณการนำเข้า และอัตราภาษีนำเข้าเนื้อวัวและเครื่องในวัวจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์จะเป็น 0 % ส่วนโคมีชีวิตทั้งไทย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ภาษีนำเข้าระหว่างกันอยู่ที่ 0% การสัมมนาและการลงพื้นที่ครั้งนี้จึงให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมโคเนื้อไทยรองรับการค้าเสรี

ทั้งนี้ ไทยผลิตโคเนื้อเฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัว ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านตัว จึงมีการนำเข้าโคมีชีวิตประมาณ 1.2 แสนตัวในปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากเมียนมา (99.13%) และออสเตรเลีย (0.68%) และมีการนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์จากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ตามความต้องการเนื้อโคแบบปิ้งย่างและชาบูที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ไทยก็มีการส่งออกโคมีชีวิต เนื้อโคและผลิตภัณฑ์ไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยในปี 2560 ส่งออกโคมีชีวิต 1.6 แสนตัว มูลค่า 2,090 ล้านบาท มีตลาดหลักได้แก่ สปป. ลาว และบางส่วนเข้าสู่ตลาดจีน และมาเลเซีย และมีการส่งออกเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ 119.23 ตัน ส่วนใหญ่ไปกัมพูชาและลาว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

22 มีนาคม 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ