นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 2/49เมื่อวันที่ 21-24 มีนาคม 2561 ณ จังหวัดบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยที่ประชุมได้ติดตามและประเมินความคืบหน้าการดำเนินมาตรการภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ.2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนได้เริ่มดำเนินการตรวจเยี่ยมประเทศสมาชิกบางประเทศเพื่อติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ AEC และจัดทำรายงานให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับทราบ และได้พิจารณาหลักเกณฑ์สำหรับแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบเพื่อให้การออกกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนมีความโปร่งใส เร่งรัดการใช้งานระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) ให้เชื่อมโยงได้ 10 ประเทศโดยเร็วและ เตรียมความพร้อมเพื่อแลกเปลี่ยนเอกสารอื่นๆ ผ่านระบบ ASW เพิ่มเติม เช่น ใบขนสินค้าอาเซียน (ASEAN Customs Declaration Document) และใบรับรองสุขอนามัยพืช จากปัจจุบันที่แลกเปลี่ยนเฉพาะหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) หาทางออกเพื่อให้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN- wide Self Certification) สามารถดำเนินการได้ในปีนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางเพื่อสรุปประเด็นคงค้างของการจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ที่ตั้งเป้าหมายให้มีการลงนามภายในปี 2561 ซึ่งจะใช้แทนความตกลงการค้าบริการอาเซียนฉบับเดิม รวมทั้งเร่งดำเนินการจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียน (AFAS) ให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันเป้าหมายการลงนามพิธีสารเพื่ออนุวัติ ข้อผูกพันฯ ชุดที่ 10 ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 50 เดือนสิงหาคม ศกนี้
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการหารือกับประเทศคู่เจรจาอาเซียนบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาว่า อาเซียนและฮ่องกงอยู่ระหว่างการหารือประเด็นในทางปฏิบัติจริงให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อให้ทันต่อการดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ส่วนอาเซียน-ญี่ปุ่นอยู่ระหว่างจัดทำพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อผนวกข้อบทการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาและการลงทุน ซึ่งอาเซียนและญี่ปุ่นได้เจรจาเสร็จสิ้นและผ่านกระบวนการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายแล้วโดยได้ตั้งเป้าหมายการลงนามพิธีสารดังกล่าว ในช่วงสิงหาคม 2561 นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้เสนอกรอบความร่วมมือใหม่กับอาเซียนใน 3 สาขา คือ ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ซึ่งอาเซียนจะต้องหารือกับองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศอย่างละเอียดก่อนจะพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
5 เมษายน 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ