รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางสาวชุติมา บุณยประภัศร) ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 16 ในวันที่ 26 เมษายน 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสู่ AEC 2025
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะมนตรีฯ จะติดตามประเด็นที่สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียน ผลักดันให้สมาชิกอาเซียนร่วมกันดำเนินการให้สำเร็จ ในปี 2561 เช่น การสรุปความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เพื่ออำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างสมาชิกอาเซียน การสร้างเครือข่ายนวัตกรรมอาเซียน การจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-certification) การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ได้ครบ 10 ประเทศ ซึ่งไทยจะให้การสนับสนุนประเด็นที่สิงคโปร์ผลักดัน โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยไทยเป็นหนึ่งใน 5 ประเทศ ที่เริ่มใช้งานระบบ ASEAN Single Window แล้วและยังผลักดันให้ประเทศสมาชิกที่เหลือเร่งดำเนินการให้สามารถเชื่อมโยงกันได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะประเมินความคืบหน้าการดำเนินมาตรการภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2025) รวมทั้งให้แนวทางในการแก้ปัญหาและความท้าทายต่างๆ โดยประเด็นที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ อาทิ การจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ที่สมาชิกอาเซียนได้ตั้งเป้าหมายการลงนามพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันฯ ชุดที่ 10 ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 50 ในเดือนสิงหาคม 2561 และแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) รวมทั้งจะมีการหารือประเด็นอื่นๆ อาทิ การปรับตัวของอาเซียนเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 และประเด็นความเชื่อมโยงในอาเซียนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และประชาชน
นางสาวชุติมา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมจะจัดทำรายงานการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจเสนอต่อผู้นำอาเซียน โดยมุ่งเน้นความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) เร่งรัดประเทศสมาชิก RCEP ให้ใช้ความพยายามเพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาความตกลง RCEP ภายในปี 2561 (2) มุ่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี ค.ศ. 2025 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และ (3) ส่งเสริมการประสานงานระหว่างองค์กรรายสาขาภายใต้เสาเศรษฐกิจ และระหว่างสามเสาประชาคมเพื่อจัดการกับประเด็นคาบเกี่ยวต่างๆ
ในปี 2560 เศรษฐกิจอาเซียนมีการเติบโตร้อยละ 5.1 และอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน ในปี 2560 มีมูลค่า 101,158 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออก 59,664 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้า 41,494 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 8.9 และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยในปี 2560 อาเซียนมีมูลค่า GDP ประมาณ 2.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
25 เมษายน 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ