กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดสัมมนาติดอาวุธเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ยกระดับเกษตรกรไทยสู่ smart enterprise 4.0 ชี้มูลค่าการส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไทยอยู่อันดับ 10 ของโลก มีมูลค่ากว่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2561 จะลงพื้นที่พบปะชาวสวนผลไม้ ณ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศคู่ค้าของไทยได้ลดเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าผลไม้ไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งการพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพพร้อมส่งออกและแข่งขันในตลาดต่างประเทศและเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยให้ก้าวทันกฎเกณฑ์การค้าและรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไปรวมถึงการใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน
“ความตกลงการค้าเสรีเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกผลไม้ไทยขยายตัว สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ขณะที่คุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดต่างประเทศนำเข้าผลไม้จากไทยมากขึ้น ดังนั้น การสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรชาวสวนผลไม้ของไทยให้สามารถปลูกผลไม้ เก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ ตลอดจนพัฒนาผลผลิตให้ตรงความต้องการตลาดจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทยในตลาดโลกได้” นางอรมน กล่าว
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปอันดับที่ 10 ของโลก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ มีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วยโดยผลไม้เมืองร้อนของไทยที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ ลำไย ทุเรียน และมังคุด ซึ่งมีอาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย และเนื่องจากสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าผลไม้และผลไม้แปรรูประหว่างกันแล้ว ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553ส่งผลให้ไทยส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกลำไยไปอาเซียน 675 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากปี 2559 ส่งออกทุเรียน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 230 จากปี 2559 และส่งออกมังคุด 146 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 132 จากปี 2559
ขณะที่จีน เป็นตลาดส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปอันดับที่ 3 ของไทย รองจากอาเซียน และสหรัฐอเมริกา โดยภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน – จีน ไทยและจีนได้ยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้าผลไม้ระหว่างกันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 โดยในปี 2560 ไทยส่งออกผลไม้และผลไม้แปรรูปไปจีน 740 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงขึ้นร้อยละ 25.46 เมื่อเทียบกับปี 2559 และสูงขึ้นกว่าร้อยละ 1,650 เมื่อเทียบกับปี 2545 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่จีนยกเลิกภาษีนำเข้าผลไม้จากไทย สินค้าผลไม้ของไทยที่ส่งออกในตลาดจีน ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมังคุด โดยในปี 2560 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีน 216 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกลำไยไปจีน 152 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกมังคุดไปจีน 60 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) และอาเซียน – ออสเตรเลีย- นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับผลไม้ที่นำเข้าจากไทยแล้วทุกรายการ ขณะที่ประเทศอื่น เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น ที่ไทยมีความตกลง FTA ด้วยก็ได้เปิดตลาดและลดภาษีสินค้าผลไม้ให้ไทยหลายรายการแล้วเช่นกัน
นางอรมน เสริมว่า เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของการส่งออกผลไม้ไทย กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จึงได้ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดสัมมนาในหัวข้อ “การค้าเสรีเพื่อยกระดับเกษตรกรไทยก้าวสู่ Smart Enterprises 4.0” เน้นให้ความรู้เรื่องสินค้าผลไม้ในตลาดการค้าเสรี เริ่มตั้งแต่การผลิต การเพาะปลูก ไปจนถึงขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวและส่งออกให้ถึงมือผู้บริโภคในต่างประเทศ และการใช้ประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีต่างๆ แก่เกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ ณ จังหวัดสุโขทัย และระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2561 จะจัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรสวนผลไม้ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น มาร่วมให้ความรู้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ไทยภาคตะวันออก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
1 พฤษภาคม 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ