กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดแผนครึ่งปีหลัง 61 เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เปิดประตูการค้า ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งการเจรจาการค้าในเวทีโลก ภูมิภาค และการเจรจาเพื่อเสริมสร้างยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผลักดัน FTA อาเซียน - ฮ่องกง มีผลบังคับ 1 มกราคม 62 รุกเจรจาแก้ไขอุปสรรคทางการค้ากับเวียดนาม และอินโดนีเซีย พร้อมลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าและใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีต่อเนื่อง โชว์เจ๋งการค้าไทยกับคู่ค้า FTA 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศ ขยายตัวก้าวกระโดดมีมูลค่าสูงถึง 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 59% ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศ
กาญจนบุรี : นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแผนการทำงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในครึ่งปีหลัง 2561 ว่า ยังคงเน้นการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญทั้งการเปิดประตูการค้า ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งการเจรจาการค้าในเวทีโลก ภูมิภาค และการเจรจาเพื่อเสริมสร้างยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยมีแผนงานสำคัญที่จะดำเนินการ ดังนี้
1. แผนงานด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
- ดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้ FTA อาเซียน-ฮ่องกง มีผลใช้บังคับได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2562 และการลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียนซึ่งจะลงนามในเดือนสิงหาคม 2561
- เร่งสรุปผลการเจรจาสาระสำคัญของความตกลง RCEP ให้มากที่สุดและรายงานสถานะต่อผู้นำภายในปลายปี 2561 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 23 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 17-27 กรกฎาคม 2561 ณ กรุงเทพมหานคร
- เร่งสรุปผลการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าระหว่างไทย-ปากีสถาน และจัดทำร่างกรอบการเจรจาด้านการค้าบริการและการลงทุนภายใต้ FTA ไทย – ปากีสถาน เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีต่อไป
- เร่งสรุปผลการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าระหว่างไทย-ตุรกี
- ดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้มีการลงนาม MOU ว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับศรีลังกา และเตรียมเปิดการเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจารอบแรกในเดือนกรกฎาคม 2561
- เตรียมเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมด้านเศรษฐกิจในวาระที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน ในปี 2562 ซึ่งคณะกรรมการอาเซียนระดับชาติโดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดแนวคิด (Theme) ในส่วนกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อกำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจซึ่งมีประเด็นที่น่าจะผลักดันในเวทีอาเซียน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน
- เดินหน้ารุกเจรจาแก้ไขอุปสรรคทางการค้า โดยวางแผนดำเนินมาตรการที่สำคัญ คือ 1) ยกระดับการกดดันเวียดนามให้ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์อย่างเข้มข้นทั้งในเวทีเจรจาสองฝ่าย อาเซียน และ WTO รวมทั้งเตรียมพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRA) มาตรฐานยานยนต์ไทย-เวียดนาม 2) ยกระดับกดดันอินโดนีเซียให้ยกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้าพืชสวน ซึ่งสินค้าเกษตรที่ไทยได้รับผลกระทบมี 3 รายการ คือ ลำไย ทุเรียน และหอมแดง โดยไทยได้หยิบยกข้อร้องเรียนนี้ในทุกระดับ และเตรียมมาตรการเพื่อต่อสู้กับการใช้มาตรการที่ไม่เป็นธรรม
2. แผนงานด้านการเสริมสร้างความรู้และความพร้อมรองรับการเปิดเสรีการค้า
- ดำเนินโครงการ “จับมือผู้ประกอบการโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จาก FTA” เพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นม และหาช่องทางขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย
- ลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าและใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี โดยมีแผนลงพื้นที่แหล่งปลูกชา ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน ณ จังหวัดเชียงราย การประชุมและเยี่ยมชมเขตเศรษฐกิจพิเศษ ระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม ณ จังหวัดเชียงราย และลงพื้นที่แหล่งปลูกลำไย ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม ณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
- ประชุม และสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับความตกลง CPTPP อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการสัมมนาใหญ่ในช่วงเดือนกันยายน
- จัดสัมมนาประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเรื่องอาเซียนและการเป็นเจ้าภาพของไทย
สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก 2561 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ขับเคลื่อนการเจรจาการค้าเชิงรุก เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยมีผลงานเด่นที่สำคัญจากการดำเนินภารกิจ 2 ด้าน คือด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการเสริมสร้างความรู้และความพร้อมรองรับการเปิดเสรีการค้า ดังนี้
ด้านที่ 1 การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยมีแนวทางดำเนินการ คือ
1.1 การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement หรือ FTA) เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดอุปสรรคการค้า ปกป้องผลประโยชน์ของไทย และเสริมสร้างกฎระเบียบการค้าภายในประเทศคู่สัญญา ซึ่งจะช่วยสร้างระบบการค้าที่มีความโปร่งใสและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมีผลดำเนินการที่ผ่านมา ดังนี้
- การค้าไทย-คู่ค้า FTA 12 ฉบับ กับ 17 ประเทศคู่ค้าขยายตัวก้าวกระโดด ปี 2560 ครอบคลุมมูลค่าการค้า 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศ ทั้งนี้ FTA ที่มีมูลค่าการค้าปี 2560 สูงสุด 5 อันดับ นับตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ มีผลบังคับใช้ ได้แก่ 1) AFTA ขยายตัว 707 % (มูลค่าการค้า 101.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ) 2) FTA ไทย-อินเดีย ขยายตัว 406% (มูลค่าการค้า 10.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ) 3) FTA อาเซียน-จีน ขยายตัว 262% (มูลค่าการค้า 73.67 พันล้านเหรียญสหรัฐ) 4) FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ขยายตัว 194% (มูลค่าการค้า 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และ 5) FTA ไทย-ออสเตรเลีย ขยายตัว 132% (มูลค่าการค้า 14.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
- สรุปผลการเจรจาและลงนาม FTA อาเซียน-ฮ่องกง เป็นผลสำเร็จในวาระที่ไทยรับหน้าที่ประเทศประธานการเจรจา FTA อาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งขณะนี้ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน โดยตั้งเป้าหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562
- สรุปผลการจัดทำพิธีสารเพื่อเปิดเสรีบริการอาเซียนตามแผน AEC Blueprint 2015 ภายใต้การเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานด้านบริการอาเซียนของไทย ได้ผลักดันให้สรุปผลการจัดทำพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 10 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) โดยอาเซียนตั้งเป้าจะให้มีการลงนามพิธีสารฉบับดังกล่าว ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนสิงหาคม 2561
- เร่งเดินหน้าเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งประเทศสมาชิก 16 ประเทศ ได้ยื่นรายการข้อเสนอเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการ และข้อสงวนสาขาการลงทุนแล้ว เพื่อเร่งสรุปผลการเจรจาประเด็นแกนหลัก ภายในปี 2561 ตามเป้าหมายที่ผู้นำกำหนดไว้
- สานต่อเจรจา FTA กับคู่ค้าตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ จัดทำความตกลงฉบับใหม่ๆ เพื่อเปิดประตูการค้า ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศตลาดรองที่มีศักยภาพ เช่น ปากีสถานและตุรกี
- รุกหน้าเจรจาลดอุปสรรคการค้าจากมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี กรมฯ ได้หารือกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการ NTBs ของประเทศคู่ค้า และดำเนินการผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประเทศคู่ค้าเลิกใช้มาตรการกีดกัน
1.2 การเสริมสร้างยุทธศาสตร์หุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Strategic Economic Partnership) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและขยายความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุนให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็วตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ซึ่งในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินการเสริมสร้างหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับหลายประเทศ เช่น 1) การลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง รับมอบเงินงบประมาณจากจีนกว่า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 60 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการทางเศรษฐกิจในกลุ่ม CLMVT และจีน 2) การลงนาม MOU ยุทธศาสตร์สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทย-กัมพูชา และ 3) ดำเนินการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกเชิงรุกโดยจัดคณะผู้แทนสำรวจและเจรจาการค้าเพื่อกระชับความสัมพันธ์ อาทิ อินเดีย โมซัมบิก ศรีลังกา บังกลาเทศ และอิสราเอล เป็นต้น
ด้านที่ 2 การเสริมสร้างความรู้และความพร้อมรองรับการเปิดเสรีการค้า กรมฯ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs เกษตรกร และประชาชนทั่วไปอย่างเป็นรูปธรรมในการเข้าถึงข้อมูลและแนวทางการเตรียมตัวใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศคู่ค้า และปรับตัวทั้งในเชิงรุกและรับเพื่อให้เท่าทันการค้ายุคใหม่ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก โดยกรมฯ ได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เช่น
- การลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการและเกษตรกร ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น
โคนมและโคเนื้อ กรมฯ ได้ลงพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ของไทยทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดตลาดสินค้านมและเนื้อโคภายใต้ FTA ที่ไทยจัดทำไว้กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และใช้โอกาสจากการลดภาษีของจีนและอาเซียนในการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านและจีน โดยล่าสุด ได้นำผู้ประกอบการร่วมแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์นมครั้งแรกในงาน THAIFEX ซึ่งประสบผลสำเร็จ โดยมีผู้สนใจสั่งซื้อนม UHT ทั้งจากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านสะดวกซื้อภายในประเทศ รวมทั้งผู้สนใจนำเข้าของสิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา จีนไทเป ฮ่องกง และจีน
ผลไม้ กรมฯ ได้ลงพื้นที่แหล่งปลูกทุเรียนและเงาะในจังหวัดจันทบุรีและระยอง และเล็งเห็นว่า FTA เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้การส่งออกผลไม้ไทยขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดจาก FTA อาเซียน-จีน ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ในการนำประเทศไทยให้เป็นมหานครผลไม้ของโลก
- การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และความรู้การค้าระหว่างประเทศ กรมฯได้พัฒนาคลังข้อมูลทางการค้าไทยผ่านเว็บไซต์ www.thailandntr.com ครอบคลุมข้อมูลกฎระเบียบของไทยทั้งด้านการนำเข้า-ส่งออกสินค้า การค้าบริการ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยให้บริการข้อมูลทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้หน่วยราชการไทยจัดทำบิ้กดาต้า (Big Data) นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ด้านการค้าระหว่างประเทศผ่านเว็บไซต์ http://elearning.dtn.go.th เพื่อช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจด้านการค้าระหว่างประเทศโดยลงทะเบียนเรียนได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
- สร้างพันธมิตรและการส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเจรจาการค้าเสรี กรมฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่อการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)ให้ดำเนินการศึกษาเชิงลึกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดของความตกลงฯ และได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดสัมมนาเผยแพร่ผลการเจรจาและสาระสำคัญของความตกลงการค้าเสรีที่เตรียมมีผลใช้บังคับ คือ FTA อาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงการค้าบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
16 มิถุนายน 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ