รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนประสบความสำเร็จ ลงนามเปิดเสรีธุรกิจบริการเพิ่ม ชี้ไทยได้ประโยชน์เข้าไปลงทุนในหลายสาขา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 31, 2018 13:49 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามเปิดเสรีการประกอบธุรกิจบริการเพิ่มเติม ‘ชุติมา’ เผยไทยมีโอกาสเข้าไปลงทุนเพิ่ม อาทิ ท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร บริการ สุขภาพ ดูแลผู้สูงอายุ และพร้อมผลักดันอาเซียนสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียนฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ด้านไทยย้ำพร้อมเป็นประธานอาเซียนปีหน้าในแนวคิดเสริมสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางทุกภาคส่วนได้ประโยชน์

นางสาวชุติมาบุณยประภัศรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEM ครั้งที่ 50 ระหว่างวันที่ 28-29 สิงหาคม2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อติดตามและเร่งรัดการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานเศรษฐกิจอาเซียน 2568 หรือ AEC Blueprint 2025 โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าการลงทุนและการลดอุปสรรคทางการค้า

นางสาวชุติมา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ AEM ประสบความสำเร็จหลายเรื่องที่สำคัญคือ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในเอกสารเพื่อเปิดเสรีการประกอบธุรกิจบริการเพิ่มเติมระหว่างประเทศในอาเซียนซึ่งไทยจะเปิดตลาดเพิ่มเติม 6 สาขาย่อย ได้แก่ บริการโทรคมนาคม เช่น บริการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และบริการขนส่งเช่น บริการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงเรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลวขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นก็จะเปิดตลาดบริการเช่นกัน ซึ่งรวมถึงสาขาที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านการโรงแรมและร้านอาหารบริการ ด้านสุขภาพบริการเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ สถาบันฝึกอบรมการจัดงานแสดงสินค้า การจัดการประชุม และการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น

สำหรับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ผลักดัน ที่ประชุมรับทราบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถดำเนินการร่วมกันจนบรรลุผลได้หลายมาตรการอาทิ (1) การจัดทำความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน ซึ่งถือเป็นความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ฉบับแรกของอาเซียน ที่จะสร้างความมั่นใจในการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการอำนวยความสะดวกพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการค้าออนไลน์มากขึ้นโดยจะมีการลงนามความตกลงฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 33 ที่สิงคโปร์ (2) การจัดทำกรอบการดำเนินการด้านดิจิทัล เพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินการเพื่อเชื่อมโยงถึงกันได้มากขึ้นผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า รักษาความปลอดภัยของข้อมูลพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล รวมทั้งจะช่วยปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้ง่ายขึ้น (3) การแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนหรือ ATIGA เพื่อรองรับการใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนที่จะทำให้ภาคเอกชน สามารถรับรองสินค้าของตนเองเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในอาเซียนได้โดยไม่ต้องไปติดต่อภาครัฐ ซึ่งไทยพร้อมจะลงนามพิธีสารฯ ภายในปีนี้ (4) การเริ่มใช้งานระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ณจุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจโดย 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซียสิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ได้เริ่มใช้งานระบบ ASW เพื่อแลกเปลี่ยนเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-ATIGA Form D แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561

ในการประชุมครั้งนี้ AEM ได้เห็นชอบและรับรองเอกสารสำคัญที่จะช่วยวางหลักการในการออก กฎระเบียบและให้ข้อมูลสำหรับภาคเอกชนในการทำธุรกิจในอาเซียนอาทิ (1) เอกสารหลักการสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการออกกฎระเบียบเพื่อไม่ให้กฎระเบียบที่จะนำมาใช้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากจนเกินไป โดยจะต้องมีกระบวนการรับฟังและเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการจัดทำกฎระเบียบอย่างเหมาะสม (2) กรอบสำหรับความร่วมมือด้านการแข่งขันอาเซียนให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลคดีของสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการแข่งขันของธุรกิจและการให้ความช่วยเหลือระหว่างกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายแข่งขัน (3) เอกสารข้อมูลพื้นฐานและประโยชน์ของการปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างสอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ (4) คู่มือกฎหมายและนโยบายด้านการแข่งขันสำหรับธุรกิจในอาเซียนซึ่งเป็นเอกสารสรุปกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสมาชิกอาเซียนและจัดทำเป็นตารางเปรียบเทียบกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจได้ง่าย (5)คู่มือกฎหมายและการกำกับดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียน ซึ่งจะอธิบายให้ผู้บริโภคในประเทศอาเซียนเข้าใจถึงขั้นตอนในการที่ผู้บริโภคจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายของประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ AEM ยังได้หารือเพื่อผลักดันให้อาเซียนสรุปการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียนฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จซึ่งเป็นการปรับปรุงกรอบความตกลงฉบับเดิมให้มีความทันสมัยครอบคลุมสาขา บริการใหม่ๆเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนภาคบริการให้มีความโปร่งใสมากขึ้นและดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

ส่วนไทยยังได้แสดงความพร้อมในการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 โดยมีแนวคิดในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางทุกภาคส่วนได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน รวมทั้งประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะต้องก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน โดยได้ให้ความสาคัญกับ 3 องค์ประกอบหลักคือ(1) ความเชื่อมโยง (Connectivity) (2) ความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainability) และ (3) การเตรียมความพร้อมและวางแผนสำหรับอนาคต (Future-Oriented Actions) ซึ่งในส่วนของเสาเศรษฐกิจในเบื้องต้นประเด็นสาคัญที่ไทยอาจพิจารณาผลักดันอาทิการอำนวยความสะดวกทางการค้าการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ให้สามารถขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้การส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวการดำเนินการเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับยุคดิจิทัล

ในช่วงการประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) โดยรับทราบข้อริเริ่มและการดำเนินการของ ASEAN-BAC ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยนำเสนองานสำคัญที่ผลักดันในปีนี้ เช่นข้อริเริ่ม ภายใต้แนวคิด“Singapore (SG) Connect” ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคและการรองรับสังคมดิจิทัลภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมทั้งประเด็นสาคัญที่มีผลต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจของอาเซียนอาทิการอำนวยความสะดวกทางการค้าการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs)

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

30สิงหาคม2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ