กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้ารับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ตามโรดแมพ ลงพื้นที่จัดสัมมนาฯ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการนำเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย เตรียมเดินหน้าจัดต่อเนื่องที่สงขลา กรุงเทพฯ และขอนแก่น พร้อมเปิดโอกาสให้แสดงความเห็นผ่าน www.dtn.go.th
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของไทยในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP” ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นไปตามแผนการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งจะจัดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกจัดที่จังหวัดชลบุรี
นางอรมน กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ของไทย อันเป็นผลสืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP และได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสีย และจัดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการนำเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย ทั้งนี้ การสัมมนาเป็นการเปิดรับฟังความเห็นต่อการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยทั่วประเทศ ซึ่งกรมฯ ให้ความสำคัญกับดำเนินการบนพื้นฐานของความโปร่งใส และเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยนอกจากการจัดงานสัมมนาที่เชียงใหม่ในครั้งนี้ ยังมีแผนที่จะจัดรับฟังความเห็น CPTPP อีกในภูมิภาคอื่น ได้แก่ สงขลา (13 กันยายน 2561) กรุงเทพฯ (19 กันยายน 2561) และขอนแก่น (26 กันยายน 2561) เพื่อให้ได้รับความเห็นที่ครอบคลุมจากทุกภาคส่วน และทุกภูมิภาคของประเทศ
“การสัมมนาที่จะจัดขึ้น กรมฯ ได้เชิญวิทยากร ที่เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ มานำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน ประเด็นเกษตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ประเด็นสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจสาระสำคัญของความตกลง CPTPP ในทุกแง่มุมมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็น มุมมองทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับจากการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP อย่างเต็มที่” นางอรมน กล่าว
นางอรมน กล่าวเสริมว่า นอกจากการจัดสัมมนารับฟังความเห็น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังเปิดให้ประชาชนผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.dtn.go.th) ซึ่งในเว็บไซต์จะมีรายละเอียดของความตกลง CPTPP รวมถึงบทความเสนอมุมมองประโยชน์ ผลกระทบเบื้องต้นของการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP รวมอยู่ด้วย ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้สนใจสามารถเข้าใจสาระสำคัญของความตกลง CPTPP มากขึ้น
ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้าง ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้น ไทยจึงยังมีเวลาที่จะศึกษา วิเคราะห์ผลดี ผลเสียของการเข้าร่วม และหนึ่งในภารกิจสำคัญคือการจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป โดยปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
30 สิงหาคม 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ