นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยในการหารือได้ติดตามประโยชน์ที่ได้รับจากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ที่อาเซียนได้ทำกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งพบว่า การทำ FTA ช่วยขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นมาก โดยจีน ตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มีผลบังคับใช้ในปี 2548 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกันเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จาก 113.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2548 เป็น 436.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน และการลงทุนโดยตรงจากจีน มีมูลค่า 11.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 8.2 ของการลงทุนทั้งหมดที่เข้ามายังอาเซียน โดยจีนเป็นนักลงทุนอันดับ 3 ของอาเซียน ในส่วนของญี่ปุ่น ตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) มีผลบังคับใช้ในปี 2552 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 160.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 เป็น 218 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 โดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของอาเซียนในปัจจุบัน และการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น ในปี 2560 มีมูลค่า 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของการลงทุนทั้งหมดที่เข้ามายังอาเซียน โดยญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน และสำหรับเกาหลี ตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) มีผลบังคับใช้ในปี 2550 มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลีขยายตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 61.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 เป็น 152.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 โดยเกาหลีเป็นคู่ค้าอันดับ 5 ของอาเซียน สำหรับการลงทุนโดยตรงจากเกาหลี มีมูลค่า 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 3.9 ของการลงทุนทั้งหมดที่เข้ามายังอาเซียน
นางสาวชุติมา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในการหารือกับจีน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือกับจีนถึงผลการประชุม China-ASEAN Steel Dialogue ครั้งที่ 15 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ณ เมืองซีอาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในการประชุมดังกล่าวได้ขอให้จีนแก้ไขปัญหา การผลิตเหล็กส่วนเกินในตลาดโลก โดยได้ขอให้จีนคงมาตรการยกเว้นการคืนภาษีส่งออกสินค้าเหล็ก (Export Tax Rebate) เชิญชวนจีนเข้ามาลงทุนผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงในอาเซียน และให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี และให้ใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอาเซียนในโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt & Roadที่ดำเนินการในอาเซียน เป็นต้น ขณะที่จีนได้แจ้งที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน เชิญชวนร่วมงาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2561 ที่นครเซี่ยงไฮ้
ในการหารือกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของอาเซียนในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล และเตรียมความพร้อมของอาเซียนรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยุคใหม่ การส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น
สำหรับการหารือกับเกาหลี ที่ประชุมเห็นควรเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาธุรกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งในปี 2560 เกาหลีได้จัดการอบรมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (Mold & Die) ของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญเกือบทุกประเภท อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยา และอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจาก SMEs ไทยว่าได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC)ได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการสาขาการดูแลสุขภาพ (Healthcare) ภายใต้สภาธุรกิจอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea Business Council: AKBC) เพื่อให้ภาคธุรกิจของสองประเทศมีเวทีหารือกันในเรื่องนี้
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
31 สิงหาคม 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ