นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 ยังคงโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 44,595.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 12.1 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น 18,563.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น 26,032.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งผู้นำเข้า-ส่งออกสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) 2ฉบับ ที่ไทยลงนามกับญี่ปุ่น คือ (1) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้ญี่ปุ่นเหลือร้อยละ 0 แล้ว ในสินค้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว เหล็กและผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ญี่ปุ่นได้ลดภาษีศุลกากรให้ไทย เหลือร้อยละ 0 แล้ว ในสินค้า เช่น กุ้งสด กุ้งแปรรูป ผลไม้เมืองร้อน (ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มะพร้าว) ผักและผลไม้แปรรูป ปลาปรุงแต่ง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น และ (2) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1มิถุนายน 2552 โดยไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้ญี่ปุ่น เหลือร้อยละ 0 แล้ว ในสินค้า อาทิ ผลไม้เมืองหนาว (เชอร์รี่ แอพริคอต พีช) อาหารทะเลกระป๋อง เส้นใยประดิษฐ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ ญี่ปุ่นได้ยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยในสินค้า อาทิ ผักและผลไม้สดและแห้ง กุ้ง ปู หมึกยักษ์ กุ้งแปรรูป ผักกระป๋อง ซอสเครื่องแกง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า
นางอรมน เสริมว่า จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ทั้ง 2ฉบับ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม–สิงหาคม) พบว่า ไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิความตกลง JTEPA มูลค่า 4,792.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 8.5 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 88.3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ ขณะที่มีการนำเข้าโดยใช้สิทธิ JTEPA มูลค่า 5,302.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 17.1 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 22.8 ของมูลค่าการนำเข้ารวม สำหรับการใช้สิทธิความตกลง AJCEP พบว่า ไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิ มูลค่า 206.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 47.7 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 3.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ ขณะที่นำเข้าโดยใช้สิทธิ AJCEP มูลค่า 158.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.5 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ FTA ร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการนำเข้ารวม
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย จากสถิติข้างต้น แสดงให้เห็นถึงศักยภาพตลาดญี่ปุ่นที่ไทยไม่อาจมองข้ามได้ ซึ่งกลุ่มสินค้าของไทยที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันได้ในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป เกษตรอินทรีย์ อาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งอาหารไทยพร้อมรับประทาน (Ready Meal) โดยสินค้าเหล่านี้ยังมีโอกาสช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดในญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต ดังนั้น ไทยจึงควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงกับรสนิยมชาวญี่ปุ่น เจาะเข้าสู่ตลาดเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น (Niche market) นอกจากนี้ ไทยควรส่งเสริมและมองหาโอกาสจากธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ บริการด้านการต้อนรับ (Hospitality) และ บริการที่สร้างสรรค์ (Creativity) โดยการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของญี่ปุ่น ตลอดจนความร่วมมือในด้านต่างๆ ผ่านความ ตกลงทั้ง 2ฉบับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของไทย ทั้งนี้ ไทยและญี่ปุ่นยังอยู่ระหว่างการทบทวนความตกลง JTEPA ซึ่งไทยยังคงผลักดันให้ญี่ปุ่นพิจารณาการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาด และยังเสนอให้มีการปรับปรุงข้อบทการค้าสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
2 พฤศจิกายน 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ