‘พาณิชย์’ เผยความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับสิ้นปีนี้ พร้อมเดินหน้าหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินประโยชน์-ผลกระทบ อย่างรอบด้าน ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 6, 2018 14:01 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

‘พาณิชย์’ เผยความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับสิ้นปีนี้ พร้อมเดินหน้าหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินประโยชน์-ผลกระทบ อย่างรอบด้าน ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมของไทย

กระทรวงพาณิชย์ เผยสมาชิก CPTPP 6 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันเพื่อยืนยันที่จะปฏิบัติตามความตกลง CPTPP แล้ว เริ่มนับถอยหลัง 60 วัน ก่อนที่ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ตามเงื่อนไข ซึ่งตรงกับวันที่ 30 ธันวาคม 2561 ส่วนการเตรียมความพร้อมของไทย กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินผลประโยชน์และผลกระทบ ก่อนเสนอระดับนโยบายพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 ออสเตรเลีย เป็นประเทศลำดับที่ 6 ที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และยื่นต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก CPTPP ที่ให้สัตยาบันความตกลงฯ แล้วทั้งสิ้น 6 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งตามเงื่อนไขความตกลง CPTPP จะมีผลใช้บังคับ 60 วัน หลังมีสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศ จาก 11 ประเทศ ให้สัตยาบัน ดังนั้น จึงทำให้ความตกลง CPTPP จะเริ่มมีผลใช้บังคับตรงกับวันที่ 30 ธันวาคม 2561

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการของไทยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย รวมถึงได้เดินสายจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในทั่วทุกภูมิภาคเกี่ยวกับความตกลง CPTPP โดยได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นไปแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดกว่า 1,400 คน ครอบคลุมผู้เข้าร่วมสัมมนาจาก 40 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในภาพรวมภาคเอกชนสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP โดยเสนอให้เตรียมความพร้อมและศักยภาพผู้ประกอบการ ขณะเดียวกัน บางภาคส่วน เช่น เกษตรกร ภาคประชาสังคม ยังมีความกังวลในบางประเด็น เช่น การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV1991 การเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และความสามารถในการแข่งขันของไทย เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มั่นใจว่าหากไทยตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ในอนาคต ก็จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ และมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดจัดประชุมคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ซึ่งตนเป็นประธานในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอความเห็นผลการวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) พิจารณาแนวทางดำเนินการของไทยในเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ความตกลง CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้าง ทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บูรไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ล่าสุดมีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่ม เช่น อังกฤษ เกาหลี จีนไทเป (ไต้หวัน) โคลอมเบีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

5 พฤศจิกายน 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ