ไทยเดินหน้ายกระดับความสัมพันธ์เศรษฐกิจกับจีน โดยได้เห็นชอบเอกสาร“ยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน”ขับเคลื่อนความร่วมมือ 7 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดิจิทัล การท่องเที่ยว การเงิน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ดันเป้าการค้าทะลุ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2561 ณ ทำเนียบรัฐบาล ได้มอบให้ทั้งสองฝ่ายไปดำเนินการเพื่อยกระดับความสัมพันธ์การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของสองประเทศ รองรับการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand 4.0 กับนโยบาย “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้สามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้นั้น ในการพบหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) กับมนตรีแห่งรัฐของจีน (นายหวัง หย่ง) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 ณ กรุงปักกิ่ง ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (Comprehensive Framework on Enhancing Trade and Economic Partnership between the Thailand and China) โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสองประเทศเป็นผู้ลงนาม
นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกสารดังกล่าว มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือ 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการค้า ร่วมมือเพื่อขยายการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564 ซึ่งรวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน China International Import Expo เป็นประจำทุกปี ส่งเสริมความร่วมมือการค้าสินค้าเกษตร และให้จัดประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน และคณะทำงานสนับสนุนการค้าอย่างไร้อุปสรรคเป็นประจำ 2) ด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร อาหารเพื่ออนาคต และการบินและโลจิสติกส์ 3) ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เสริมสร้างความร่วมมือผ่านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร โดยใช้เมืองนวัตกรรมอาหารของไทย (Food Innopolis) เป็นพื้นที่ในการทำวิจัยและพัฒนา เข้าร่วมโครงการสำรวจความร่วมมือด้านอวกาศของจีน ร่วมมือด้านการพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ 4) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) เทคโนโลยี 5Gและการลงทุนในอุทยานดิจิทัลในไทย รวมถึงยกระดับความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเคเบิ้ลใต้น้ำ และโครงข่ายใยแก้วนำแสง 5) ด้านการเงิน ส่งเสริมการใช้เงินบาทและเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ขยายความร่วมมือและส่งเสริมบริการทางการเงินสมัยใหม่ (Fintech) 6) ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพรวมถึงมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น การถ่ายทำภาพยนตร์ การบริการเรือข้ามฟาก และธุรกิจบริการน้ำพุร้อน 7) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน ส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านความร่วมมือภายใต้เขตเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PPRD) กรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (GBA) กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง (ACMECS)
ทั้งนี้ จีนมีความสำคัญในฐานะเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และนักลงทุนอันดับ 3 ของไทย และด้วยขนาดของประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ทำให้จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งไทยได้พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการพบหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่ายในการเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ ได้เห็นชอบการลงนามเอกสารยกระดับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน ที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนและต่อเนื่องต่อไป
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทย
เป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 73,670.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.9 และในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 45,710.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.6 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
7 พฤศจิกายน 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ