นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ว่า ที่ประชุมรับทราบความสำเร็จการทำงานของเสาเศรษฐกิจอาเซียนในรอบปี 2561 ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้
นางสาวชุติมา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จการทำงานของเสาเศรษฐกิจของอาเซียนใน 13 เรื่องแบ่งได้เป็น 5 ด้าน ที่สำคัญ ดังนี้ ด้านที่ 1) การส่งเสริมนวัตกรรมและความเชื่อมโยงด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อาเซียนประสบความสำเร็จในการจัดทำความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจพาณิขย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง การจัดทำกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน เพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกอาเซียนเชื่อมโยงถึงกันผ่านระบบดิจิทัลได้มากขึ้น ด้านที่ 2) การปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียน ได้เริ่มใช้งานระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนของสมาชิก 5 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ขณะที่ 5 ประเทศที่เหลือจะต้องผลักดันให้สำเร็จในปี 2562 ช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน รวมทั้งได้แก้ไขความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ให้รองรับการใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ด้านที่ 3) การรวมกลุ่มการค้าบริการและการลงทุนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น มีการเปิดเสรีสาขาบริการเพิ่มเติม ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการอาเซียน (AFAS) ที่จะขยายโอกาสการลงทุนในสาขาบริการที่อาเซียนมีศักยภาพ รวมทั้งได้จัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) และปรับปรุงความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA)เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และอำนวยความสะดวกการลงทุนในภูมิภาค โดยตั้งเป้าให้มีการลงนามความตกลงทั้ง 2 ฉบับ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนเมษายน 2562 ด้านที่ 4) การสร้างสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ เช่น การจัดทำหลักเกณฑ์ในการสร้างอาคารสีเขียว เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการสร้างอาคารประหยัดพลังงาน และด้านที่ 5) การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศนอกอาเซียน โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น
นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า ที่ประชุมยังได้เห็นพ้องให้อาเซียนเตรียมพร้อมรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR)และแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยไทยได้แสดงความตั้งใจที่จะสานต่อการดำเนินการเรื่องนี้ในปี 2562 ในช่วงที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน อาทิ การเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับ 4IR สำนักเลขาธิการอาเซียนออกผลการศึกษาจัดไทยอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำ (Leading) ของอาเซียนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการรองรับทิศทางในอนาคต เช่นเดียวกับสิงคโปร์ และมาเลเซีย
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นว่าในการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ยุคใหม่ ได้มีการนำประเด็นใหม่ๆ เช่น แรงงานและสิ่งแวดล้อม พลังงาน อีคอมเมิร์ซ มาหารือกัน อาเซียนจึงควรมีแนวทางและกำหนดท่าทีร่วมกัน เพื่อใช้ในการเจรจาความตกลงกับประเทศต่างๆ ในอนาคตต่อไป
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
13 พฤศจิกายน 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ