จับกระแสผู้นำคนต่อไปของรัสเซีย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 10, 2008 16:22 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          ข่าวที่ค่อนข้างจะดังในประเทศมหาอำนาจของโลก และเป็นที่กล่าวขวัญของคนทั่วโลกในขณะนี้ คือ ใครจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัสเซีย ต่อจากนาย Vladimir Putin ซึ่งจะหมดวาระการทำหน้าที่ในสมัยที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2008 นี้  
อย่างไรก็ดี เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้แล้วว่านาย Putin ได้เลือกผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อจากเขาแล้วซึ่งก็คือ นาย Dmitry Medvedev (รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และประธานบริษัท Gazprom ซึ่งเป็นบริษัทก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย) โดยนาย Putin ได้เริ่มดำเนินหมากทางการเมืองตั้งแต่การเข้าไปคุมเสียงส่วนใหญ่ในพรรค United Russia ซึ่งเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา ต่อมาได้ประกาศสนับสนุน นาย Medvedev ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 มีนาคม 2008 โดยการสนับสนุนของพรรค United Russia และสุดท้าย นาย Medvedev ได้ออกมาแถลงการณ์ว่าหากเข้าได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของรัสเซียแล้ว เขาต้องการให้นาย Putin กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล ของตน
การออกมาแถลงการณ์ดังกล่าวจึงถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างมากว่า หากนาย Medvedev ได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว ใครคือผู้ปกครองที่แท้จริงของรัสเซีย ระหว่าง นาย Medvedev หรือ นาย Putin เพราะตั้งแต่นาย Putin เข้ามารับตำแหน่งในปี 1999 นั้น โดยส่วนตัวของเขาเองก็ได้ถูกวิพากย์วิจารณ์ ในแง่ลบ ในหลายเรื่อง เช่น การใช้อำนาจที่ค่อนข้างเผด็จการ โดยการลดอำนาจของศาลและรัฐสภา การจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อ การดึงธุรกิจมาอยู่ในความดูแลของรัฐโดยเฉพาะด้านพลังงาน รวมไปถึงการมีนโบายต่อต้านโลกตะวันตกเพื่อฟื้นฟูรัสเซียที่ยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ดี ในทางตรงข้าม นาย Putin ก็ได้สร้างสิ่งดีดีให้กับประชาชนชาวรัสเซีย เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้ในปัจจุบัน รัสเซียมีขนาดทางเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก การมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศและกองทุนรักษาเสถียรภาพเงินรูเบิล สูงถึง 500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (จากที่ไม่มีเลยในปี 1998) และอื่นๆ ที่ส่งผลในทางที่ดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวรัสเซีย
ในส่วนของนาย Medvedev ซึ่งปัจจุบันถูกมองว่า เป็นผู้ที่ได้รับการค้ำจุนและครอบงำจากนาย Putin โดยทั้งสองคนต่างมาจากเมืองและมหาวิทยาลัยเดียวกัน นาย Medvedev ได้ร่วมงานกับนาย Putin ตั้งแต่อยู่ที่สำนักงานนายกเทศมนตรีเมือง St. Petersburg และไม่เคยอยู่ห่างจากนาย Putin นับแต่บัดนั้น อย่างไรก็ดียังมีประเด็นที่มีการพูดถึงในลักษณะมุมมองและทัศนะคติส่วนตัว ของนาย Medvedev ว่าเป็นผู้ที่มีแนวคิดสมัยใหม่และเสรีนิยมที่สนใจความเจริญด้านเศรษฐกิจและธุรกิจมากกว่าการสร้างแสนยานุภาพ ของประเทศจริงหรือไม่ รวมถึงบางพฤติกรรมที่มีความขัดแย้งกันเอง เช่น การต่อต้านการจับกุมนักการเมืองบางคนที่ต่อต้าน นาย Putin แต่ในขณะเดียวกันก็กลับห้ามผู้บริหารในคณะของ
นาย Putin พูดคุยกับสื่อโดยตรง ประเด็นที่มีการพูดถึงมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสอง โดยนาย Medvedev มิได้มาจากกลุ่ม “sikoviki” ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ที่เคยทำงานด้านความมั่นคงของประเทศเหมือนนาย Putin แต่ทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ในส่วนบุคคลที่ดีต่อกัน และนาย Medvedev มีความซื่อสัตย์ต่อนาย Putin เป็นอย่างมาก ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่างจากลักษณะการสืบทอดอำนาจของผู้นำประเทศรัสเซียที่เคยมีมาตั้งแต่ยุคสังคมนิยม
สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา เมื่อนาย Medvedev ได้เป็นประธานาธิบดี และนาย Putin เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คือ การเข้ามาควบคุมอำนาจของนาย Putin โดยการใช้อิทธิพลกับรัฐสภา เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้นายกรัฐมนตรีสามารถมีอำนาจควบคุมและสั่งการด้านการทหารและการรักษาความมั่นคงของชาติแทนประธานาธิบดี ซึ่งนักวิจารณ์การเมืองของรัสเซียเองได้แสดงความเห็นว่า กลไกการสืบทอดอำนาจทางการเมือง ที่ดูเหมือน นาย Putin พยายามที่จะป้องกันและไม่ให้เกิดขึ้นนั้น กำลังจะกลับมาอีกโดยนาย Putin เป็นผู้ดำเนินการเองโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
จากบทเรียนในอดีตที่มาผ่านมา รัสเซียเป็นประเทศที่ต้องมีศูนย์กลางทางอำนาจเพียงสถาบันเดียว หากมองย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 100 ปี ที่แล้วในสมัยพระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ซึ่ง มี นาย Pyotr Stolypin เป็นนายกรัฐมนตรีที่เผด็จการและใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ประท้วงทางการเมือง ผลที่ตามมาคือการนองเลือดและการปกครองโดยระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ กว่า 73 ปี
คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า หลังการเลือกตั้งในปี 2008 รัสเซียจะเดินไปในทิศทางใด ไม่เฉพาะแต่ในทางการเมือง แต่รวมไปถึงด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ดีมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ว่ารัสเซียจะยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้หรือไม่
(แปลและเรียบเรียงจากบทความในนิตยสาร The Economist ฉบับประจำวันที่ 15-21 ธันวาคม 2007)
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ