กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จับมือพันธมิตรสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี ครั้งที่ 1” ณ จังหวัดอุดรธานี มุ่งพัฒนาเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรเป้าหมายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนทั้งสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ ผลไม้ เพิ่มการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี โดยเฉพาะตลาดอาเซียน และยกระดับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อขยายการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมมือส่งเสริมให้เกษตรกรมีความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) รวมทั้งเตรียมความพร้อมเกษตรกรไทยพัฒนาศักยภาพให้แข่งขันได้ในตลาดโลก และใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ไปแล้ว สำหรับในปีงบประมาณ 2562 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จัดโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” จำนวน 6 ครั้ง ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและปลอดภัย (Food Health and Safety) ให้ความสำคัญกับพืชเกษตร ผลไม้ อาหารปลอดภัย และสมุนไพร ซึ่งในปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่จัดสัมมนาและพบปะกลุ่มเกษตรกรเพื่อต่อยอดสินค้าเกษตร เช่น มะม่วง ทุเรียน ลำไย และยังได้หารือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพื่อเลือกสินค้าเกษตรตัวใหม่ที่มีศักยภาพ และเหมาะกับสร้างโอกาสทางการค้าจากความตกลง FTA และเป็นสินค้าที่กลุ่มเกษตรกรมีความสนใจ เช่น พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า กรมฯ ได้เริ่มต้นนำร่องด้วยการจัดโครงการ “การเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ครั้งที่ 1ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2561 ณ จังหวัดอุดรธานี โดยได้กำหนดสินค้าเกษตรเป้าหมายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ สมุนไพรขมิ้นชัน ไพล ขิง ข่า กระชาย ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 กรมฯ ได้ลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรในพื้นที่แปลงผลิต กลุ่มสมุนไพรบ้านนาเมือง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกขมิ้นชันที่มีสารสรรพคุณยาเข้มข้นเฉพาะถิ่นเท่านั้น สามารถขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในชุมชนได้ นอกจากนี้ ยังปลูกพืชสมุนไพรกว่า 1,500 ชนิด โดยสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นสินค้ายารักษาโรค อาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ความงาม ทั้งนี้ กรมฯ ได้หารือกับเกษตรกรกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพาราบ้านโนนบก ที่มีการผลิตครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งในพื้นที่มีการปลูกยางพารา 200,000 ไร่ การตั้งโรงงานแปรรูปในชุมชน และการตั้งร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น ถุงมือเคลือบยางพารา หมอนขิดยางพารา และหมอนหนุนยางพารา เป็นต้น โดยเกษตรกรทั้งสองกลุ่มมีองค์ความรู้ด้านสินค้าเกษตร และพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด แต่มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าไม่มากนัก
นอกจากนี้ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 กรมฯ ได้ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจาก FTA” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” ให้กับเกษตรกรจำนวนกว่า 120 คน จากจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย และบึงกาฬ ณ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์อุดรธานี โดยการเสวนาครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ และกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงการแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งมีวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญมาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพการผลิต การหาตลาด และใช้ประโยชน์จากการค้าเสรี รวมทั้งมีการเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้าเกษตรที่เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร ซึ่งผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจ และเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการยกระดับการพัฒนาสินค้าทั้งด้านการบรรจุภัณฑ์ การสร้างตราสินค้า มาตรฐาน และช่องทางการตลาดจากการเปิดเสรีทางการค้า
นายดวงอาทิตย์ กล่าวเสริมว่า สำหรับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 กรมฯ จะลงพื้นที่พบปะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชุมชนคนรักมะม่วง ซึ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง มีความชำนาญด้านการส่งออกผลไม้สดไปตลาดต่างประเทศในอาเซียน สปป.ลาว เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี พร้อมทั้งกำลังจะพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะมะม่วง ได้แก่ มะม่วงแช่แข็ง และมะม่วงดอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
“กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เชื่อมั่นว่าการผลึกกำลังร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติครั้งนี้ จะเป็นกลไกในการช่วยสร้างมูลค่าและยกระดับสินค้าเกษตรในชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถเข้าถึงช่องทางการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็ง” นายดวงอาทิตย์ กล่าว
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
21 พฤศจิกายน 2561
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ