ไทยเปิดฉากเป็นประธานอาเซียน ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2018 14:50 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยประเดิมหน้าที่ประธานอาเซียน โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ หรือ SEOM Retreat โดยได้หารือแผนงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน พร้อมนำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจ 12 ประเด็น ที่อาเซียนจะร่วมกันขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จในปี 2562 ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2561 ที่กรุงเทพฯ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้นำเสนอประเด็นด้านเศรษฐกิจที่จะให้อาเซียนร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)” ที่ไทยประกาศในการรับตำแหน่งประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน 12 ประเด็น คือ ด้านที่ 1 ก้าวไปข้างหน้ามองสู่อนาคต (Future Orientation)มีประเด็นสำคัญ เช่น การเตรียมทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียนเพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) พัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิทัล ด้านที่ 2 ส่งเสริมความเชื่อมโยง (Enhanced Connectivity) โดยดำเนินการ เช่น เชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิก จากปัจจุบันใช้งานได้แล้ว 5 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และอีก 3 ประเทศ คือ บรูไน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างทดสอบระบบ การปิดรอบการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ในปี 2562 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารในอาเซียน และด้านที่ 3 ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ (Sustainable in all dimensions) มีประเด็น เช่น จัดทำความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืนของอาเซียน จัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน เป็นต้น ซึ่งสมาชิกอาเซียนจะนำ 12 ประเด็นที่ไทยเสนอกลับไปพิจารณาเพื่อกลับมาหารือในรายละเอียดในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนมกราคม 2562 ก่อนที่จะนำเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้ความเห็นชอบขับเคลื่อนให้เกิดความสำเร็จในปี 2562 ต่อไป

นางอรมน เสริมว่า ที่ประชุมยังได้วางแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2562 ซึ่งรวมถึงการทำงานกับคู่เจรจา 11 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อาทิ การให้สัตยาบันของสมาชิกอาเซียนเพื่อให้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) มีผลใช้บังคับได้โดยเร็วในต้นปี 2562 การให้สัตยาบันพิธีสารยกระดับความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) เพื่อสามารถบังคับใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่แนบท้ายพิธีสารฯ ได้โดยเร็ว และการลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อรวมความตกลงการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน เข้ากับความตกลง AJCEPเป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2560 อาเซียนมีการส่งออกในภาพรวมเป็นมูลค่า 1.31 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 7.4 ของมูลค่าการส่งออกของโลก มีการนำเข้ารวมมูลค่า 1.25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 6.9 ของมูลค่าการนำเข้าของโลกโดยเป็นการส่งออกภายในกลุ่มอาเซียน ร้อยละ 24.7 และมีสัดส่วนนำเข้าจากประเทศภายในกลุ่มอาเซียน ร้อยละ 22.2 ที่เหลือเป็นการค้ากับนอกกลุ่มโดยอาเซียนมีคู่ค้าสำคัญ คือ จีน สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (มกราคม-กันยายน) มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันมากถึง 85,127 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 14.7 โดยอาเซียนยังครองตำแหน่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้ามากถึงร้อยละ 22.6 รองลงมาเป็นประเทศจีน (ร้อยละ 15.7) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 11.8)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

30 พฤศจิกายน 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ