กรมเจรจาฯ จับมือพันธมิตรจัดสัมมนา “รู้รอบ ASEAN รอบรู้ RCEP”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 14, 2018 13:34 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้จับมือองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) จัดงานสัมมนา “รู้รอบ ASEAN รอบรู้ RCEP” ณ โรงแรม Sofitel Bangkok Sukhumvit กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 เพื่อประกาศบทบาทและนโยบายที่สำคัญของไทยในฐานะประธานอาเซียนให้ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ซึ่งในงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “อาเซียนมีความสำคัญกับไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการค้าไทยกับอาเซียนมีการขยายตัวในอัตราสูงกว่าคู่ค้าอื่น ๆ ทำให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การที่ไทยรับไม้ต่อการเป็นประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะผลักดันการดำเนินงานและประเด็นต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงทางการค้า ส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปสู่คู่เจรจาของอาเซียนหรือประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาค ทั้งนี้ ไทยได้ประกาศแนวคิดหลักสำหรับการเป็นประธานอาเซียน คือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability) โดยมีประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันด้านเศรษฐกิจในวาระการเป็นประธาน อาทิ การดำเนินการสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัล การส่งเสริมวิสาหกิจรายย่อยในอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Green Economy) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในส่วนของเสาเศรษฐกิจอย่างน้อย 9 การประชุม เช่น การประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การประชุมระดับปลัดกระทรวง การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ”

นางอรมน กล่าวเสริมว่า “ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุม RCEP เพิ่มเติม เพื่อเร่งรัดการเจรจาตามที่ผู้นำ RCEP ได้มีมติให้สรุปผลการเจรจา RCEP ให้ได้ในปี 2562 เนื่องจากปัจจุบัน เศรษฐกิจการค้าโลกต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยต่างๆ อาทิ สงครามการค้า และการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า หากความตกลง RCEP สามารถสรุปผลได้ก็จะเป็นทั้งโอกาสและทางเลือกให้กับผู้ประกอบธุรกิจในประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาของอาเซียนที่เป็นสมาชิก RCEP ในการขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน มีการปรับกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องและโปร่งใสควบคู่ไปกับการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เนื่องจาก RCEP มี GDP รวมกันกว่า 25.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 28 ของโลก มีประชากรรวมกันเกือบครึ่งของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก”

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

13 ธันวาคม 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ