‘พาณิชย์’ เผยผลการเยือนเวียดนามร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ พบเกษตรกรใช้การวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช เพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 25, 2019 14:49 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการเยือนเวียดนามร่วมกับสภาเกษตรแห่งชาติ พบว่าเวียดนามให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก โดยหลังจากนี้ จะร่วมลงพื้นที่กับสภาเกษตรกรแห่งชาติหารือกับเกษตรกรไทย เรื่องการปรับปรุงพันธุ์ และคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เพื่อประเมินความพร้อมของไทยต่อความตกลงยูพอฟ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ นำโดยนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เยือนกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 21-22 มกราคม 2562 รับฟังประสบการณ์จากเกษตรกร หน่วยงานด้านการคุ้มครองพันธุ์พืช บริษัทพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช และศูนย์ทดสอบพันธุ์พืชของเวียดนาม เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (ยูพอฟ) นอกจากนี้ พบว่าเกษตรกรเวียดนามนิยมซื้อพันธุ์พืชใหม่ที่ผ่านการวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์มาเพาะปลูก เพราะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ดีขึ้น ทนทานต่อโรค ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี นับตั้งแต่เวียดนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูพอฟ เมื่อปี 2549 ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช ทำให้จำนวนผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่จาก 7 รายต่อปี ในปี 2548 เพิ่มเป็น 242 รายต่อปี โดยในปี 2560 ส่งผลให้เวียดนามมีนักปรับปรุงพันธุ์พืชเพิ่มขึ้นมาก จนปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1,000 ราย ทั้งที่เป็นบริษัทเอกชน สถาบันวิจัยของรัฐ นักวิจัยอิสระ มหาวิทยาลัย และเกษตรกร มั่นใจจะสามารถขยายการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศและเพิ่มส่วนแบ่งสินค้าเกษตรของเวียดนามในตลาดโลก โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพด และผัก อย่างไรก็ดี เวียดนามต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อมในประเทศถึง 5 ปี เพื่อสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้อง ออกกฎระเบียบและจัดทำระบบรองรับการปฏิบัติในประเทศ

นางอรมน กล่าวว่า การเยือนเวียดนามครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าเวียดนามสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการลงทุนพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ได้ เนื่องจากมีภาคเอกชนและสถาบันวิจัยต่างๆ สนใจลงทุนศึกษาวิจัยพันธุ์พืชใหม่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้เวียดนามมีความมั่นคงทางอาหาร และมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นทุกปี หลังจากการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูพอฟ โดยเวียดนามเห็นว่าการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญายูพอฟ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจและกล้าพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชมากขึ้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรที่ไม่สามารถปรับปรุงพันธุ์เองได้ ก็จะสามารถเลือกใช้พันธุ์ที่ปรับปรุงแล้วได้

นางอรมน เสริมว่า เนื่องจากเรื่องการเข้าเป็นภาคียูพอฟ เป็นข้อบทที่ปรากฏในความตกลงเอฟทีเอรุ่นใหม่ๆ ที่มีมาตรฐานสูง เช่น ความตกลง CPTPP และเป็นประเด็นที่เกษตรกรและภาคประชาสังคมของไทยมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงได้หารือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ จึงจะจับมือร่วมกันทำงานต่อไป โดยเตรียมลงพื้นที่นำข้อมูลที่ได้จากการเยือนเวียดนามหารือเกษตรกร และนักวิจัยพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ของไทย เพื่อรับฟังข้อมูล และแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เกี่ยวข้องเรื่องการขึ้นทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เพื่อนำมาประกอบการประเมินความพร้อมของไทย ประโยชน์ หรือผลกระทบที่ภาคเกษตรของไทยต่อไป และเพื่อทราบความต้องการของเกษตรกรและนักวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชต่อการสนับสนุนของภาครัฐในเรื่องต่างๆ อาทิ การสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืช เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตรของไทย การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการผลิตและขยายพันธุ์พืช การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อการปรับตัวและเยียวยาเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบ ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรรายย่อย และการร่วมกันกำหนดทิศทางของภาคเกษตรไทย โดยเฉพาะการรักษาความสามารถและศักยภาพภาคเกษตรไทยในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารของโลก เป็นต้น

ทั้งนี้ เวียดนามและไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญในภูมิภาค โดยประชากรร้อยละ 70 ของเวียดนามจาก 95 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา เวียดนามสามารถพัฒนาประเทศจากผู้นำเข้าสินค้าเกษตรเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในภูมิภาค โดยภาคเกษตรของเวียดนามมีสัดส่วนร้อยละ 20 ของ GDP รวมของประเทศ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกว่า 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม โดยมีสินค้าเกษตรส่งออกหลัก เช่น ข้าว กาแฟ ยาง ชา มันสำปะหลัง มะม่วงหิมพานต์ และสินค้าประมง (กุ้ง) ขณะที่ประชากรร้อยละ 35ของไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม ไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2560 เป็นร้อยละ 8.7 ของ GDP รวมประเทศ หรือประมาณ 42,555 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 16 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวม โดยมีสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ เช่น ข้าวและผลิตภัณฑ์ น้ำตาล ยางพารา ผลไม้และผลิตภัณฑ์ เนื้อไก่ มันสำปะหลัง และสินค้าประมง (ปลา กุ้ง) เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

24 มกราคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ