กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผนึกกำลังสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงรายและภาคเอกชนในพื้นที่ จัดสัมมนาและลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการชาในจังหวัดเชียงราย พบอุตสาหกรรมชาไทยมีศักยภาพ ล่าสุดรั้งอันดับ 4 ผู้ส่งออกชาโลก กรมฯ หวังต่อยอดโดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิต สร้างอัตลักษณ์ชาไทย แนะการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ มั่นใจเพิ่มโอกาสขยายการส่งออกชาไทยได้ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการชาจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 20 - 21 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อให้ความรู้และแนะนำช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเอฟทีเอที่ไทยทำกับอาเซียน และจีน ที่ประเทศคู่ค้าเหล่านี้ได้มีการลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ชาจากไทยเหลือร้อยละ 0 แล้ว ซึ่งช่วยเพิ่มแต้มต่อและโอกาสในการแข่งขันของชาไทย อย่างไรก็ตามเกษตรกรและผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตชาด้วย ตั้งแต่การปลูก การเก็บใบชา ไปจนถึงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของชาไทยในตลาดโลก โดยในปี 2560 ไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกผลิตภัณฑ์ชา อาทิ ชาผง ชา 3 in 1 เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแคนาดา สหรัฐอเมริกา และจีน มีปริมาณส่งออกรวม 10,775 ตัน คิดเป็นมูลค่า 958 ล้านบาท ไปประเทศในกลุ่มอาเซียน (เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว) จีนไทเป (ไต้หวัน) สหรัฐฯ?และจีน เป็นต้น สำหรับการส่งออกใบชา ในปี 2560 ไทยส่งออกใบชา 2,710 ตัน คิดเป็นมูลค่า 436 ล้านบาท ไปยังอินโดนีเซีย (ร้อยละ 25) กัมพูชา (ร้อยละ 19) และจีน (ร้อยละ 18) เป็นต้น
นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายพบว่า “ชาเชียงราย” เป็นชาชนิดเดียวที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ จีไอ ในไทย แสดงถึงความพิเศษของชาที่ปลูกในพื้นที่นี้ที่มีสภาพดิน อากาศ ระดับความสูง ความลาดเอียงของพื้นที่ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้ได้ชาที่มีความพิเศษและแตกต่างจากชาที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ ในโลก จึงถือเป็นโอกาสที่จะร่วมกันสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ความพิเศษดังกล่าวในตลาดต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการชาในพื้นที่ก็ให้การตอบรับและเห็นความสำคัญของการผลิตชาให้ได้คุณภาพ การเพิ่มมูลค่าให้กับใบชาในรูปแบบต่างๆ การสร้างเรื่องราวและอัตลักษณ์เฉพาะให้กับชา การผสมใบชากับพืชสมุนไพรและพืชท้องถิ่น การทำชา ออร์แกนิก และการเชื่อมโยงการผลิตชากับการท่องเที่ยว เป็นต้น
สำหรับกระบวนการผลิตชาให้ได้คุณภาพดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งการลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ผู้ประกอบการชา ตลอดจนการจัดสัมมนาเรื่อง “การต่อยอดตลาดสินค้าชาไทย โดยใช้เอฟทีเอ” และ “การใช้เอฟทีเอในการยกระดับสินค้าสู่ตลาดเฉพาะ”ณ ไร่เชิญตะวัน จ. เชียงราย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงโรงงานผลิตในพื้นที่ โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชาในทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความเห็นในการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพสินค้าชาไทย เพิ่มโอกาสในการขยายการส่งออกชาไทยไปตลาดโลกจากเอฟทีเอที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า โดยหากเกษตรกรให้ความสำคัญกับการผลิตชาคุณภาพ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การแปรรูป จนไปสู่ผลิตภัณฑ์ จะช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมชาไทยได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ชาถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือ มากที่สุดที่จังหวัดเชียงราย โดยนอกจากไทยจะส่งออกใบชาแล้ว ยังมีการนำไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ชา เช่น ชาผงสำเร็จรูป ชา 3 in 1 เป็นต้น ในปี 2561 ไทยมีผลผลิตชาสดประมาณ 93,309 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27.45 แบ่งเป็นชาอัสสัม 84,231 ตัน คิดเป็นร้อยละ 90.27 ของผลผลิตชาทั้งหมด และชาจีน 9,078 ตัน คิดเป็นร้อยละ 9.73 ในปีเดียวกัน (2560) ไทยนำเข้าชา 11,639 ตัน จากประเทศ จีน (ร้อยละ 49) เวียดนาม (ร้อยละ25) และเมียนมา (ร้อยละ11) ซึ่งภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทยลดภาษีนำเข้าใบชาจากอาเซียนเหลือร้อยละ 0 แล้ว สำหรับประเทศคู่เอฟทีเออื่นๆ เช่น จีน ไทยยังไม่ได้ลดภาษีใบชาให้กับจีน โดยเก็บอัตราภาษีนำเข้าชาจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อื่นๆ กล่าวคือ อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 30 ภายใต้ปริมาณ 625 ตัน ต่อปี ดังนั้น หากมีการนำเข้าเกินปริมาณโควตาดังกล่าว จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 90 ขณะที่ประเทศคู่ค้าของไทยที่สำคัญ อาทิ จีน ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้แก่ไทยแล้ว และประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ให้แก่ไทยแล้วเช่นกัน ยกเว้นเมียนมาที่ยังคงภาษีนำเข้าใบชาอยู่ที่ร้อยละ 5
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
21 กุมภาพันธ์ 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ