ไทยผนึกกำลังอาเซียนกู้วิกฤต WTO เมื่อกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าใกล้เป็นอัมพาต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2019 15:34 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ใช้โอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ผนึกกำลังอาเซียนกู้วิกฤติ WTO หลังร่วมกับอาเซียน และ WTO จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่องการปฏิรูป WTO ที่ กรุงเทพฯ เตรียมหารือต่อในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนต้นเดือนเมษายน โดยเฉพาะเมื่อกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ WTO ใกล้หยุดทำงาน เนื่องจากไม่สามารถเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) 6 ใน 7 ตำแหน่งที่ว่างลงได้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์การการค้าโลก (WTO) จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่องการปฏิรูป WTO มุมมองของอาเซียน (WTO Reform: Perspectives for ASEAN Countries) เมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม 2562 ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เพื่อให้สมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนมุมมอง และรับทราบความคืบหน้าการหารือเรื่องการปฏิรูป WTO ที่เกิดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่องค์การการค้าโลก โดยในการสัมมนาครั้งนี้ ประเทศที่มีบทบาทสำคัญใน WTO เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน และญี่ปุ่น ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสัมมนาด้วย รวมทั้งนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ (General Council) ของ WTO ก็ได้ร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่หลายประเทศเริ่มนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้ ถือเป็นการท้าทายอำนาจและบทบาทของ WTO ที่มีหน้าที่กำกับดูแลประเทศสมาชิกให้ปฏิบัติตามกติกาและกฎระเบียบการค้าโลก โดยเฉพาะหลักการค้าเสรี เป็นธรรม และโปร่งใส ส่งผลให้สมาชิก WTO เร่งหารือเพื่อหาทางธำรงรักษาระบบการค้าพหุภาคีและคลี่คลายสภาวะความตึงเครียดทางการค้า โดยเห็นว่าจำเป็นต้องปฏิรูปองค์การการค้าโลก ซึ่งก่อตั้งมากว่า 25 ปี ให้เท่าทันพัฒนาการของการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมากในปัจจุบัน ตลอดจนปรับปรุงกลไกการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สรุปประเด็นหลักๆ ที่สมาชิกหารือกันได้ 4 ประเด็น คือ (1) ปรับปรุงกลไกการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหลักความโปร่งใส การแจ้งข้อมูลการออกกฎระเบียบ หรือมาตรการทางการค้าใหม่ๆ ให้สมาชิกอื่นทราบอย่างทันท่วงที เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกอื่นได้หารือสอบทานว่ามาตรการที่ใช้จะต้องสอดคล้องกับความตกลง ทั้งการสร้างแรงจูงใจ ลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม หรือให้การช่วยเหลือด้านเทคนิคกับผู้ที่มีปัญหาในการปฏิบัติ เป็นต้น ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาว่า สมาชิกหลายประเทศละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาของ WTO ในเรื่องการเวียนแจ้งข้อมูลทางการค้า (2) ปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO โดยเฉพาะการทำหน้าที่ขององค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ที่ต้องมาพิจารณากันใหม่ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอาจใช้อำนาจหน้าที่เกินไปจากที่ความตกลง WTO กำหนดไว้ เช่น ใช้เวลาในการพิจารณาคดีเกินกว่า 90 วันที่ความตกลงกำหนดไว้ มีการวินิจฉัยเกินไปกว่าการฟ้องร้องและความจำเป็นในการตัดสินคดี มีการนำคำวินิจฉัยขององค์กรอุทธรณ์ไปใช้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย หรือแม้สมาชิกองค์กรอุทธรณ์หมดวาระแล้ว แต่ยังทำหน้าที่พิจารณาคดีที่ค้างอยู่ เป็นต้น (3) ผลักดันการเจรจาเพื่อจัดทำกฎระเบียบการค้าโลกให้คืบหน้า โดยขณะนี้ WTO ประสบปัญหาการเจรจารอบโดฮาไม่คืบหน้า

(เปิดเจรจาปี 2544) มีการหารือว่าจะผลักดันการเจรจาที่ค้างอยู่ให้คืบหน้าอย่างไร หรือจะหาข้อสรุปการเจรจาบางเรื่องที่มีความเร่งด่วนก่อน เช่น จัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง จัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และ (4) การทบทวนสิทธิพิเศษและแตกต่าง (special and differential treatment หรือที่เรียกว่า S&D)ที่ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดได้รับ เช่น ระยะเวลาการปรับตัวที่นานกว่า การปฏิบัติตามข้อผูกพันที่น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และแคนาดา ยื่นข้อเสนอใน WTO ให้มีการทบทวน S&D โดยอาจกำหนดคำนิยาม หรือกำหนดหลักเกณฑ์การให้สิทธิ S&D ขึ้นใหม่ โดยพิจารณาตามเหตุผลความจำเป็น การเติบโตและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดที่เคยได้รับ S&D ว่าจะยังคงได้รับสิทธิ S&D ต่อไปหรือไม่ โดยมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมทั้งไทยเห็นว่าหลักการ S&D เป็นหลักพื้นฐานที่จำเป็นของ WTO ที่จะช่วยเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการค้าโลก

การสัมมนาเรื่องการปฏิรูป WTO ที่ไทยจัดขึ้นครั้งนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากอาเซียน ที่ตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของการปฏิรูป WTOโดยเฉพาะเมื่อกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ WTO ใกล้หยุดทำงาน เนื่องจากไม่สามารถเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ที่จะว่างลงรวม 6 ใน 7 ตำแหน่ง ในเดือนธันวาคมนี้ได้ ดังนั้น ในฐานะที่สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เป็นสมาชิก WTOเช่นกัน จึงเห็นพ้องให้หยิบยกเรื่องนี้หารือกันต่อในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนที่จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนเมษายน 2562เพื่อหาท่าทีร่วมอาเซียนเรื่องการปฏิรูป WTOและร่วมแสดงบทบาทของอาเซียนในการกู้วิกฤติขององค์กร และธำรงไว้ซึ่งความสำคัญของระบบการค้าพหุภาคี หลักการค้าเสรีที่เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ นางอรมนเสริม

ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก หรือ World Trade Organization (WTO) เป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรเดียวในโลกที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี โดยเป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้าและจัดทำกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้การค้าโลกมีความเสรียิ่งขึ้น บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นเวทีในการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และเป็นเวทีในการสอบทานการดำเนินนโยบาย และมาตรการทางการค้าของประเทศสมาชิก โดยปัจจุบัน WTO มีสมาชิก 164 ประเทศ ในปี 2560 ไทยมีมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าสูงเป็นลำดับที่ 15 ของโลก โดยการส่งออกมีมูลค่า 237 พันล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้ามีมูลค่า 223 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

18 มีนาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ