‘กรมเจรจาฯ’ โชว์ผลสำเร็จการเจรจาจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง พร้อมเดินหน้าส่งผู้แทนร่วมขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2019 15:36 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาฯ เจ๋ง ดันการเจรจาหาข้อสรุปในประเด็นที่ติดค้างของการจัดทำระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนสำเร็จตามเป้า เตรียมส่งผู้แทนเข้าสู่กระบวนการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย พร้อมเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้โครงการนำร่องระบบฯ ปลื้ม ผู้ประกอบการไทยตื่นตัว มีผู้ส่งออกขึ้นทะเบียนใช้ระบบฯ มากสุดในอาเซียน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (SC-AROO Meeting) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11 – 13 มีนาคม 2562 ว่า ที่ประชุมสามารถหาข้อสรุปเรื่องระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ติดค้างมานานได้ โดยตกลงในประเด็นสำคัญคือ (1) คุณสมบัติของผู้ส่งออกที่จะขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ต้องเป็นผู้มีถิ่นฐานพำนักตามกฎหมายในประเทศผู้ส่งออก มีความรู้ด้านกฎว่าถิ่นกำเนิดสินค้า และมีระบบการจัดการและการควบคุมบัญชีที่ดี (2) มีการจำแนกชัดเจนระหว่างหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า กับหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกฯ เนื่องจากในอาเซียนบางประเทศ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เหล่านี้อาจไม่ใช่หน่วยงานเดียวกัน และ (3) ข้อมูลที่จะปรากฏในฐานข้อมูลระบบรับรองถิ่นกำเนิดด้วยตนเอง เช่น รายการสินค้าพร้อมทั้งรหัสพิกัดศุลกากร เกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้า จำนวนของสินค้า เครื่องหมายการค้า (ถ้ามี) เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า การเจรจาจัดทำข้อบทนี้สืบเนื่องจากที่อาเซียนได้ลงนามพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ให้รองรับระบบรับรองถิ่นกำเนิดด้วยตนเองครบทุกประเทศ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จึงได้เร่งเจรจาหาข้อสรุปข้อบทเกี่ยวกับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ทางเทคนิคสำหรับใช้งานระบบฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยผลักดันมาโดยตลอด เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ เพราะไม่จำเป็นต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป แต่สามารถดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง จึงช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล Form D ของอาเซียน ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SC-AROO Meeting เมื่อโดยการประชุมมีความคืบหน้ามาก ทำให้สามารถสรุปผลเจรจาที่ประเทศมาเลเซียครั้งนี้ได้ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ไทยพยายามผลักดันให้การเจรจาแล้วเสร็จในช่วงการเป็นประธานอาเซียนของไทย

นางอรมน ให้ข้อมูลว่า สำหรับการดำเนินการต่อไป ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของอาเซียนจะมีการประชุมในเดือนมิถุนายน 2562 ณ ประเทศเวียดนาม เพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะส่งผู้แทนเข้าร่วมดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าวด้วย จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และแจ้งการให้การรับรองข้อบทด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าของไทยต่อที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) ก่อนการเริ่มใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดด้วยตนเองในเดือนมีนาคม 2563

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้โครงการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองพบว่าไทยเป็นประเทศที่มีผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยมีจำนวนผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 326 ราย อันดับที่ 2 มาเลเซีย 190 ราย และอันดับที่ 3 สิงคโปร์ 74 ราย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

20 มีนาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ