กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน ครั้งที่ 14 พบสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ยืนยันความตั้งใจและมุ่งมั่นปฏิบัติตามหลักการที่ตกลงกันไว้ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและผลกระทบของการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี พร้อมตั้งเป้าลดต้นทุนทางธุรกรรมลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วมด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน (ASEAN Trade Facilitation-Joint Consultative Committee : ATF-JCC) ครั้งที่ 14 ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน 2562 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้ากิจกรรมที่สมาชิกอาเซียนจะต้องเร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างสมาชิก ตามที่คณะมนตรีอาเซียนได้ตกลงกันไว้ในปี 2561 เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและผลกระทบของการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี พบว่า สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ยืนยันความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามหลักการที่ตกลงกันไว้ เช่น จะใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีเมื่อจำเป็นและมีเหตุผลอันควร มีการหารือรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียก่อนใช้มาตรการ เผยแพร่รายละเอียดของมาตรการเพื่อความโปร่งใส ประเมินผลของมาตรการที่ใช้ และปรับปรุงทบทวนมาตรการเป็นระยะ เป็นต้น
นอกจากนี้ อาเซียนพร้อมที่จะลดต้นทุนการทำธุรกรรม (trade transaction cost) ในประเทศลงร้อยละ 10 ภายในปี 2563ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน โดยมอบให้สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) คำนวณตัวเลขที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการลดต้นทุนการทำธุรกรรม เช่น ระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจปล่อยสินค้า ณ ด่านศุลกากร ระยะเวลาที่สินค้าพักรอที่ท่าเรือ และระยะเวลาที่ใช้ในการออกใบอนุญาต เป็นต้น โดยคาดว่าจะศึกษาเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2562
นางอรมน เสริมว่า อาเซียนยังได้หารือการพัฒนาเครื่องมือและกลไกที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก เช่น การตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อเป็นหน่วยประสานงาน กำหนดและติดตามนโยบายการอำนวยความสะดวกทางการค้าของสมาชิกอาเซียน การจัดทำคลังข้อมูลการค้าของประเทศ และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสมาชิก เพื่อรวมเป็นคลังข้อมูลการค้าของอาเซียน การพัฒนาระบบการเชื่อมโยงเอกสารรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าของอาเซียนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (ASEAN Single Window) ซึ่งปัจจุบันเชื่อมโยงกันได้แล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยเหลืออีก 5 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา และสปป.ลาว ที่แสดงความพร้อมที่จะเชื่อมโยงให้เสร็จภายในปีนี้ โดยระบบดังกล่าวจะช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารการนำเข้า-ส่งออกสินค้า การตรวจปล่อยสินค้า และลดต้นทุนของภาคธุรกิจ
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้หารือข้อเสนอจากสภาธุรกิจร่วม (Joint Business Council: JBC) ซึ่งประกอบด้วยสภาธุรกิจที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน สภาธุรกิจอียู-อาเซียน และสภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน ที่เสนอให้อาเซียนพิจารณาขยายเพดานมูลค่าขั้นต่ำของการขนส่งสินค้าที่ซื้อขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Low Value Shipment : LVS) โดยปัจจุบันอาเซียนได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ภายใต้โครงการ USAID-IGNITE ในการศึกษาแนวปฏิบัติของสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่อาเซียนจะใช้วิเคราะห์ ประเมินผลดีและผลเสีย ประกอบการพิจารณาแนวปฏิบัติของอาเซียนในเรื่องนี้ต่อไป
ทั้งนี้ อาเซียนให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ภาคธุรกิจ เนื่องจากจะช่วยให้การค้าระหว่างอาเซียนราบรื่น คล่องตัว และขยายตัวได้มากขึ้น โดยในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าสูงถึง 1.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 6.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้า 4.54 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ด้วยสัดส่วนการค้าสูงถึงร้อยละ 22.7
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
4 เมษายน 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ