‘พาณิชย์’ แนะผู้ส่งออกไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ 2 ฉบับ ช่วยส่งออกแดนปลาดิบ หลังจีเอสพีถูกตัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2019 15:11 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เชื่อ ญี่ปุ่นตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับไทย ไม่กระทบผู้ส่งออก ชี้ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่หันมาใช้สิทธิประโยชน์จาก JTEPA และ AJCEP เพิ่มขึ้น มีมูลค่ารวมกว่า 7,566 ล้านเหรียญสหรัฐขณะที่การส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP มีเพียง 7.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นขยายตัวกว่าร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับปี 2549 ก่อนไทยมีเอฟทีเอกับญี่ปุ่น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ จีเอสพี(GSP) กับไทยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงปี 2556-2558 ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ในเกณฑ์ปานกลางระดับสูง แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ส่งออกของไทย เนื่องจากปัจจุบันผู้ส่งออกหันไปใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ 2 ฉบับ ได้แก่ JTEPA และ AJCEP ซึ่งให้สิทธิประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยใช้สิทธิประโยชน์จาก JTEPA และ AJCEP รวมมูลค่ากว่า 7,566 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.3 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปญี่ปุ่น ในขณะที่มีการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSPเพียง 7.85 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.03 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปญี่ปุ่น มีเพียงสินค้าซอร์บิทอลที่เคยได้ GSPแต่ไม่อยู่ในรายการลดภาษีภายใต้ JTEPA และ AJCEP โดยในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น เพียง 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐหรือร้อยละ 0.006 ของมูลค่าการส่งออกรวมไปญี่ปุ่น ซึ่งจากสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทำให้การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นของไทย ขยายตัวกว่าร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับปี 2549 ก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอกับญี่ปุ่น

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 โดยญี่ปุ่นลดภาษีศุลกากรให้ไทยเหลือศูนย์กว่าร้อยละ 88.1 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเลียมและพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ กุ้งสดและแช่แข็ง ผักและผลไม้แปรรูป ผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น ส่วนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552 ซึ่งญี่ปุ่นลดภาษีศุลกากรให้ไทยเป็นศูนย์แล้วกว่าร้อยละ 87.1 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผักและผลไม้สดและแห้ง ซอสเครื่องแกง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น ซึ่งผลจากเอฟทีเอทั้ง 2 ฉบับ ทำให้การส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น ในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2560

นางอรมน เสริมว่า ญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน โดยในปี 2561 การค้ารวมระหว่างไทยกับญี่ปุ่นมีมูลค่า 60,201 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าปี 2560 ร้อยละ 11.24 ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,942 ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 35,259.6ล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศhttp://ftacenter.dtn.go.thหรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โทร. 0 2507 7555

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

30 เมษายน 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ