ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นพร้อมที่จะลงนามแล้วหลังจากผ่านการเจรจาอย่างเข้มข้นเป็นเวลานานกว่า 4 ปีนับตั้งแต่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายลงนามในกรอบการเจรจาในปี 2546 ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 1/39 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 19-22 มกราคม 2551 ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงกำหนดเวลาและรูปแบบการ
ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นต้องการให้การลงนามเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในที่สุดที่ประชุมมีมติให้การลงนามอาจทำโดยประเทศอาเซียนที่พร้อมลงนามกับญี่ปุ่นไปก่อนโดยไม่ต้องมีการลงนามพร้อมกัน หรือหากอาเซียนทุกประเทศสามารถดำเนินกระบวนการภายในเสร็จสิ้นทันการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการซึ่งมีกำหนดที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้อาจจัดให้มีพิธีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นในการประชุมดังกล่าว
ในส่วนของประเทศไทยนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อนการลงนามความตกลงนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และก่อนการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน (การให้สัตยาบัน) จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งในปัจจุบันกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเสนอความตกลงฯ ต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาให้ความเห็นชอบให้ลงนามได้ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่สาระสำคัญของความตกลงฯ ให้ประชาชนรับทราบและเตรียมพร้อมกับความตกลงฯ ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ความตกลงนี้จะครอบคลุมการค้าสินค้าเป็นหลัก ส่วนการค้าบริการและการลงทุนนั้นทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามีในความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่และญี่ปุ่นแล้ว จึงได้มีการตกลงในกรอบกว้างๆ โดยจะยังไม่มีการเปิดเสรี ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจะเจรจากันต่อไปในอนาคต
ความตกลงฯ นี้จะก่อให้เกิดเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 163 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และก่อให้เกิดเครือข่ายการผลิตขนาดใหญ่ โดยประเทศภาคีสามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าภายในภูมิภาคเพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีที่จะเกิดขึ้นได้ ผลของความตกลงฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายทั้งในด้านการค้าและการลงทุน และส่งเสริมให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปสู่ตลาดโลก
ในการเปิดตลาดสินค้านั้น 90 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่นจากอาเซียนจะลดภาษีเป็น 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลใช้บังคับ ในขณะที่ไทยไม่ได้เปิดตลาดสินค้าไปมากกว่าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นที่มีผลใช้บังคับแล้วในปัจจุบัน ทั้งนี้ประโยชน์ที่ไทยได้รับเพิ่มเติมเมื่อเทียบกับความตกลง JTEPA ได้แก่ การเปิดตลาดสินค้าเพิ่มขึ้น/เร็วขึ้น 71 รายการ คิดเป็นมูลค่า 53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากปลา กล้วย ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ไม้อัด ไม้แปรรูป เป็นต้น และสามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้า รวมถึงประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในสาขาต่างๆ จำนวนไม่ต่ำกว่า 14 สาขา เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พลังงาน สารสนเทศและการสื่อสาร และการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นต้น ซึ่งยังเปิดกว้างให้ประเทศภาคีเสนอโครงการดำเนินการความร่วมมือในสาขาดังกล่าวข้างต้นต่อไปอีก รวมทั้งความตกลงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปูทางนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคต่อไปเช่น อาเซียน+3 และอาเซียน+6
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-