กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดการประกวดแข่งขันการประกวดแผนธุรกิจ “DTN Business Plan Award 2019” รอบชิงชนะเลิศ ค้นหาสุดยอด 5 ทีมที่มีแผนธุรกิจยอดเยี่ยมจากการใช้ประโยชน์เอฟทีเออาเซียน-จีน เป็นผู้ชนะ เตรียมบุกแดนมังกร จับคู่ธุรกิจที่มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มั่นใจช่วยกระตุ้น SMEs ไทยให้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอบุกตลาดจีน เสริมศักยภาพส่งออกไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยในงานการประกวดแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ (pitching) ว่า โครงการ DTN Business Plan Award 2019 เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่กรมฯ จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 99ปีกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นให้ภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหันมาใช้เอฟทีเอขับเคลื่อนการส่งออกสู่ตลาดจีน ซึ่งมีผู้ผ่านเข้ารอบ15 ทีม จากผู้สมัครทั้งหมด 131 ทีม โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลแผนธุรกิจยอดเยี่ยมจำนวน 5 ทีม (Best Practice) จะได้เดินทางบุกแดนมังกร เพื่อเรียนรู้และจับคู่ธุรกิจในจีน พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมงาน The 10th China (Shanghai) International Catering Food & Beverage Exhibition 2019 ในเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งจะเป็นการช่วยต่อยอดธุรกิจแก่ SMEs ไทยให้รุกเข้าสู่ตลาดจีนได้มากขึ้นรวมทั้งยังมีรางวัลพิเศษ Most Favorite Biz Plan สำหรับคลิปวีดีโอแนะนำผลิตภัณฑ์ของทีมที่มียอด Like สูงสุดใน Facebook: DTN Business Plan Award 2019 ชิงเงินรางวัล 10,000 บาท
“เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ทั้ง 15 ราย ซึ่งได้เข้าร่วมอบรมบู้ธแคมป์ เทคนิคการรุกตลาดจีนให้รวยด้วยเอฟทีเอ ที่กรมฯ จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน ที่ผ่านมา ได้นำความรู้จากการอบรมมาใช้ในการจัดทำแผนให้มีความน่าสนใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ ซึ่งหากได้รับการผลักดัน และส่งเสริมให้ดำเนินการตามแผนที่ได้จัดทำไว้อย่างเป็นรูปธรรม จะสามารถสร้างการเติบโตให้แก่ตัวผู้ประกอบการในระยะยาว และยังส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย” นางอรมน กล่าว
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการ 15 ทีมที่เข้าร่วมงานประกวด pitching ในครั้งนี้ ล้วนเป็นดาวเด่นในบรรดาผู้สมัครทั้งหมด ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ประกอบด้วย สินค้าที่แปรรูปจากมะม่วง ได้แก่ มะม่วงอบแห้งไม่ใส่น้ำตาล จากทีม 168, มะม่วงกรอบสับปะรดกรอบ จากทีม Mango Hill, มะม่วงฟรีซดราย จากทีม Phuchaya – mango, ข้าวเหนียวมะม่วงฟรีซดรายด์ จากทีม Graccy group, ข้าวเหนียวมะม่วงสดพร้อมทาน จากทีม Triple Prime Mango นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่แปรรูปจากข้าว ได้แก่ ข้าวกล้องกรอบ รส ปาปริก้า ทีมข้าวสร้างสุขขนมข้าวป๊อบ กราโนล่า จากทีม ยังเกอร์ ฟาร์ม, ซุปข้าวกล้องหอมมะลิและข้าวไรซ์เบอรี่ออร์แกนิคกึ่งสำเร็จรูป จากทีม Eiyo ซุปเปอร์คิดส์รวมทั้ง ข้าวเหนียวทุเรียนพร้อมทาน จากทีม Big Durian, สินค้ากล้วยเส้นทรงเครื่อง Nawati จากทีม BANANA House, เงาะอบแห้ง IYHA จากทีม IYHA, Toptap มะพร้าวอัดเม็ด จากทีมปลาวริช 88, ชุดเครื่องปรุงต้มยำสำเร็จรูป จากทีม มิตรธัญญะกรุ๊ป ตลอดจนสินค้าจากกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ ยาสีฟันสมุนไพรเอนไซต์เฮิร์บบุปผาวัน จากวิสาหกิจชุมชนยาสีฟันสมุนไพรเอนไซต์เฮิร์บทีมบุปผาวัน และผลิตภัณฑ์น้ำมันงา น้ำมันรำข้าวสกัดเย็น จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเขาแหลม
นางอรมน เสริมว่า จากผลงานที่ผู้ประกอบการได้จัดทำเพื่อมานำเสนอ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs มีการใช้นวัตกรรมและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศ ซึ่งกรมฯ ให้ความสำคัญกับการติดอาวุธให้ผู้ประกอบการไทย รุกตลาดจีนโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน ตลอดจนเน้นการพัฒนาคุณภาพและสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า เจาะตลาดเข้าสู่เมืองใหม่ๆ โดยเฉพาะมณฑลทางฝั่งตะวันตกของจีน เช่น ซินเจียง กานซู หนิงเซียะ ฉงชิ่ง และมณฑลเมืองรองที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น เหอเป่ย เหอหนาน หูเป่ย รวมถึงร้านออนไลน์ที่มีชื่อเสียงของจีน เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยจะต้องติดอาวุธและเรียนรู้ที่จะวางแผนในการทำธุรกิจและส่งออกไปจีน โดยเฉพาะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า โดยในส่วนของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปควรให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานทั้ง GAP และ GMP รวมทั้งต้องพยายามประชาสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายให้ผู้บริโภคจีนรู้จักสินค้าไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-จีน (ACFTA) มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2548 ไทยและจีนได้ทยอยลดเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันมาเป็นลำดับ เริ่มจากยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าผักและผลไม้นำเข้า เมื่อต้นปี 2549 จนล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ลดภาษีศุลกากรสินค้าล๊อตสุดท้ายให้เหลือร้อยละ 0-5 อาทิ สับปะรดแปรรูป โพลิเอสเตอร์ แป้งข้าวเจ้า ปลายข้าว เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ซึ่งพบว่า การค้าระหว่างไทยกับจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีมูลค่า 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 294.3 จากปี 2548 ที่เอฟทีเอเริ่มใช้บังคับ และขยายตัวร้อยละ 8.7 จากปี 2560 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปจีน 30,175.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากจีน 49,961ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
13 พฤษภาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ