กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กางสถิติส่งออก เผยพอใจที่ความตกลงเอฟทีเอช่วยปลดล็อคกำแพงภาษีให้กับสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทย ผลักดันการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกตลาดเทียบกับก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอ ส่งไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของโลก พร้อมเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดต่อเนื่อง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยลงนามแล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีส่วนสำคัญทำให้การส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยปัจจุบัน ประเทศคู่เอฟทีเอ คือ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าประมงและอาหารทะเลแปรรูปทุกรายการให้ไทยแล้ว สำหรับอีก 3 ประเทศที่เหลือ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย เก็บภาษีนำเข้าจากไทยเพียงบางรายการเท่านั้น เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้าปลาทั้งตัวและเนื้อปลาสด แช่เย็นแช่แข็งบางชนิด เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเทราต์ กุ้งแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปส่วนใหญ่ เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้าปลามีชีวิต ปลาทั้งตัวและเนื้อปลาสด แช่เย็น แช่แข็งบางชนิด เช่น ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาแอนโชวี่แห้ง อาหารทะเลแปรรูป เช่น ปลาทูน่ากระป๋องหรือแปรรูป ปลาซาร์ดีนกระป๋อง และ อินเดีย เก็บภาษีนำเข้าสินค้าปลาทั้งตัวและเนื้อปลาสด แช่เย็นแช่แข็งบางชนิด เช่น ปลาเทราต์ ปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล กุ้งและปูสด แช่เย็น แช่แข็ง รวมถึงปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้งกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
นางอรมน เสริมว่า ในปี 2561 นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอมีผลใช้บังคับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนขยายตัวถึงร้อยละ 484.19% ส่วนคู่ค้าอื่นๆ เช่น อาเซียนขยายตัวร้อยละ 178.29 ออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 127.33 ชิลีขยายตัวร้อยละ 127.33 เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 105.48 นิวซีแลนด์ขยายตัวร้อยละ 85.36 และ ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 18.48 เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติ ในปี 2561 ที่พบว่า สินค้าประมงและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าอันดับต้นที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เอฟทีเออาเซียน-จีน (ACFTA) เอฟทีเอระหว่างอาเซียน (AFTA) เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) เอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) และเอฟทีเอไทย-ชิลี (TCFTA)
นางอรมน เพิ่มเติมว่า จากความต้องการบริโภคสัตว์น้ำของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าประมงและผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2562 มีมูลค่าถึง 1,329.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ 590.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดที่มีการขยายตัวของการส่งออก อาทิ จีน (43.74%) ชิลี (32.81%) เปรู (33.21%) และอินเดีย (100%) ขณะเดียวกันตลาดที่การส่งออกหดตัว อาทิ ญี่ปุ่น (-1.73%) สหรัฐ (-9.42%) อาเซียน (-33.46%) ซึ่งกรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าประมงเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น เอฟทีเอที่ไทยทำกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมงของไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยสินค้า และวิธีการทำประมงให้สอดรับกับกฎเกณฑ์และมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันสู่การเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลที่สำคัญของโลก
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
23 พฤษภาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ