กระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ครั้งที่ 25 ณ สาธารณรัฐชิลี หารือประเด็นสำคัญท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์การค้าโลก ภายหลังการประชุม รัฐมนตรีเอเปคออกแถลงการณ์ร่วมกันครั้งแรกในรอบ 3 ปี ยืนยันความมุ่งมั่นและความร่วมมือเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และพร้อมสนับสนุนการปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ ยั่งยืนและทั่วถึง
นางสาวอรุณี พูลแก้ว รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองบีนญา เดล มาร์ สาธารณรัฐชิลี เพื่อหารือประเด็นสำคัญด้านการค้าทั้งของโลกและภูมิภาคท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์การค้าที่เกิดขึ้น พร้อมจัดแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เพื่อยืนยันความร่วมมือในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และส่งเสริมการดำเนินการที่จำเป็นต่อการปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคให้เกิดความยั่งยืนและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
นางสาวอรุณี เปิดเผยว่า รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานการเปิดเสรีโดยสมัครใจและการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่กำหนดในปี 2563 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับภาคบริการ รวมทั้งส่งเสริมการร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ อาทิ มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า ความโปร่งใส และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมการเข้าสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) รวมถึงยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการส่งเสริมบทบาทและโอกาสของสตรี และ SMEs ในการเข้าสู่ระบบการค้าระหว่างประเทศในยุคดิจิทัล เพื่อลดอุปสรรคและความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงตลาดแรงงาน การศึกษา การพัฒนาทักษะ การเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งเอเปคให้ความสำคัญกับการจัดทำวิสัยทัศน์เอเปคหลังปี 2563โดยยึดหลักการค้าและการลงทุนเสรีและเปิดกว้างซึ่งเป็นประเด็นที่เอเปคให้ความสำคัญและต้องการให้มีความคืบหน้า รวมทั้งสามารถรายงานผลต่อที่ประชุมผู้นำในปี 2562 ได้
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าเอเปคควรสนับสนุนการดำเนินงานของ WTO ทั้งการรักษาระบบการค้าที่ยึดกฎเกณฑ์ หลักการเสริมสร้างความโปร่งใสและหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งในฐานะผู้แทนไทย ได้เน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกเอเปคมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อเสริมสร้างการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการแจ้งข้อมูลมาตรการทางการค้า การปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงการหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบภายในประเทศด้านการค้าบริการ การอำนวยความสะดวกทางการลงทุน การส่งเสริมบทบาทของสตรี วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises: MSMEs) ในการเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก และสนับสนุนการเจรจาจัดทำกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจ ทำให้การค้าเติบโต นอกจากนี้ยังให้ความร่วมมือในการผลักดันให้เริ่มกระบวนการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่ เพื่อรักษากลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO ให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำแนวนโยบายในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้ประกอบการ MSMEs อาทิ การประชุมหารือและการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนรูปแบบการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาให้ภูมิภาคก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลในวงกว้างและสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจดิจิทัล อีกด้วย
ทั้งนี้ ปี 2561 การค้าของไทยกับกลุ่มเศรษฐกิจเอเปคมีมูลค่า 347,265 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 69.2 ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไปยังเอเปค 175,852 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 69.6 ของการส่งออกรวมของไทย และนำเข้าจากเอเปค 171,413 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 68.8 ของการนำเข้ารวมของไทย
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
23 พฤษภาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ