กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ พร้อมรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย เตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน หากไทยมีการเจรจาจัดทำ FTA กับบังกลาเทศในอนาคต
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง “ประโยชน์ ผลกระทบ และความพร้อมของไทย ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-บังกลาเทศ” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กรุงเทพฯ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับบังกลาเทศ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับประโยชน์ ผลกระทบ ปัญหาอุปสรรค และแนวทางรองรับผลกระทบจากการจัดทำเอฟทีเอดังกล่าว
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า กรมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมของไทย และต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม จึงได้ดำเนินการจ้างศึกษาวิเคราะห์ผลประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับในกรณีที่ไทยจะเจรจา FTA กับบังกลาเทศในอนาคต โดยจากการสัมมนา พบว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้ไทยจัดทำ FTA กับบังกลาเทศ สำหรับสินค้าที่ภาคเอกชนให้ความสนใจและไทยมีศักยภาพส่งออกไปยังบังกลาเทศ อาทิ อาหาร อาหารแปรรูป และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนภาคบริการที่ภาคเอกชนให้ความสนใจและไทยมีศักยภาพ เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา และการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีนักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนในบังกลาเทศแล้วหลายราย ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อาหาร วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลังงาน ซึ่งกรมฯ จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มาใช้ปรับปรุงผลการศึกษาให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
นายดวงอาทิตย์ เสริมว่า ไทยจำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงให้กับสินค้าและบริการของไทย เพื่อให้การค้าและการลงทุนของไทยสามารถเติบโตอย่างมั่นคง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก โดยปัจจุบันไทยได้ริเริ่มการเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว ได้แก่ ปากีสถาน และศรีลังกา ทั้งนี้ บังกลาเทศถือเป็นอีกประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาประเทศ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ซึ่งในปี 2561 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของบังกลาเทศขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7.86 และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บังกลาเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยกว่าร้อยละ 6 ต่อปี โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ อาทิ ปัจจัยด้านประชากรที่มีจำนวนสูงถึง 160 ล้านคน ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ค่าแรงต่ำ รวมถึงมีทรัพยากรทางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และถ่านหิน เป็นต้น นอกจากนี้ บังกลาเทศเป็นประเทศที่นักลงทุนจากทั่วโลกให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน เนื่องจากได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) จาก 47 ประเทศทั่วโลก
ในปี 2561 บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับที่ 39 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยมีมูลค่าการค้ารวม 1,255.79 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปบังกลาเทศ 1,196.55 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปูนซิเมนต์ เม็ดพลาสติก ผ้าผืน เหล็ก เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เป็นต้น และนำเข้าจากบังกลาเทศ 59.24 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
24 พฤษภาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ