กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หนุนธุรกิจชาไทยต่อเนื่อง ชวนผู้ประกอบการชา “ช้างเผือก” จากการลงพื้นที่จัดสัมมนา ร่วมงาน THAIFEX 2019 แสดงอัตลักษณ์ชาและผลิตภัณฑ์ชาของไทย พร้อมจัด workshop และบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับชา ตอกย้ำความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำผู้ประกอบการชาที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการชาที่มีอัตลักษณ์พิเศษของไทยซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากจังหวัดเชียงราย อาทิ บริษัทสวรรค์บนดิน บริษัทเสริมลักษณ์ชาไทย บริษัท 101 วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรชาเวียงกาหลง บริษัทชาวังพุดตาล และบริษัทจตุพลชาไทย ร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มนานาชาติ (THAIFEX- World of Food Expo 2019) เพื่อจัด workshop การปรุงชา การผสมชา รวมถึงจัดบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติ กระบวนการผลิต และความพิเศษของชาไทย ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงชาไทยกับการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 ณ DTN Tea Barณ โถงอาคารชาเลนเจอร์ 2 บริเวณทางเข้า 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพคเมืองทองธานี โดยมี นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้เกียรติร่วมเยี่ยมชม
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กรมฯ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่า ชาของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาเชียงราย” เป็นชาชนิดเดียวที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในไทย แสดงถึงความพิเศษของชาที่ปลูกในพื้นที่นี้ที่มีสภาพดิน อากาศ ระดับความสูง ความลาดเอียงของพื้นที่ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้ได้ชาที่มีความพิเศษและแตกต่างจากชาที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ ในโลก กรมจึงได้จัดสัมมนา ให้ความรู้และแนะนำช่องทางการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ)ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเอฟทีเอที่ไทยทำกับอาเซียน และจีน ที่ได้มีการลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ชาจากไทยแล้ว ซึ่งการนำผู้ประกอบการชาของไทยมาร่วมแสดงศักยภาพของสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ในงาน THAIFEX 2019 ที่เป็นงานระดับนานาชาติซึ่งมีผู้ประกอบการและผู้นำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมงานจำนวนมากนั้น จะเป็นการต่อยอดจากการลงพื้นที่และจัดสัมมนาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ความพิเศษของชาไทย เพิ่มโอกาสในการทำตลาดไปสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงจะช่วยจับคู่ธุรกิจของผู้ประกอบการชากับคู่ค้าต่างประเทศ และเป็นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับชาไทยให้ผู้ร่วมงานได้ทราบอีกด้วย
“ชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือ มากที่สุดที่จังหวัดเชียงราย โดยนอกจากไทยจะส่งออกใบชาแล้ว ยังมีการนำไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ชาส่งออกด้วย เช่น ชาผงสำเร็จรูป ชา 3 in 1 เป็นต้น ซึ่งจากการที่กรมเจรจาฯ ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและผู้ประกอบการชาไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผู้ประกอบการชาของไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย มีศักยภาพที่น่าจะสามารถแข่งขันและเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยมีผลผลิตชาสดประมาณ 93,309 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 27.45 แบ่งเป็นชาอัสสัม 84,231 ตัน (ร้อยละ 90.27 ของผลผลิตชาทั้งหมดของไทย)และชาจีน 9,078 ตัน (ร้อยละ 9.73 ของผลผลิตชาไทย) โดยไทยส่งออกชา 2,743 ตัน ไปอินโดนีเซีย สหรัฐฯ กัมพูชา และจีน และส่งออกผลิตภัณฑ์ชา 5,811 ตัน ไปสหรัฐฯ เมียนมา กัมพูชา และลาว
สำหรับงาน THAIFEX – World of Food ASIA 2019 เป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่และครบวงจรที่สุดงานหนึ่งของเอเชีย ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ร่วมด้วยหอการค้าไทย และโคโลญเมสเซ่ ประเทศเยอรมนี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม –1 มิถุนายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี แบ่งเป็นวันเจรจาธุรกิจ 4 วัน คือ 28 – 31 พฤษภาคม และวันจำหน่ายปลีก 1 วัน คือวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaifexworldoffoodasia.com
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
28 พฤษภาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ