กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เผยสหภาพยุโรปตกลงให้สิทธิประเทศไทยเจรจาขอรับโควตาส่งออกสินค้าเกษตร 31 รายการ ใหม่ภายใต้กรอบ WTO เพื่อรับมือ Brexitหลังหยิบยกขึ้นหารือขอสิทธิดังกล่าวจากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ตั้งแต่ปี 2560 คาดเจรจาเสร็จก่อนเส้นตาย UK ออกจาก EU
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม เปิดเผยความคืบหน้าการเจรจาจัดสรรปริมาณโควตาสินค้าเกษตรของไทยที่ผูกพันไว้กับ สหภาพยุโรป (EU)และสหราชอาณาจักร (UK)ในกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) จากกรณี Brexitซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดคณะผู้แทนไทยไปหารือกับ EU และ UK ที่สำนักงานองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา ตั้งแต่ปี 2560 และยื่นขอสิทธิในการเจรจาขอรับจัดสรรโควตาจาก EU ภายใต้ WTO อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 25621 ล่าสุด EUได้ตอบรับให้ไทยมีสิทธิในการเจรจาขอรับจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรเหล่านี้ใหม่ภายใต้กรอบ WTO แล้ว โดยครอบคลุมสินค้าเกษตร 31 รายการที่ไทยเคยได้รับจาก EUก่อนที่จะเริ่มกระบวนการเจรจา Brexit ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก 9 รายการ ข้าว 9 รายการ มันหวาน มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลัง 4 รายการ ปลาและกุ้งแปรรูป 6 รายการ อาหารสำเร็จรูป พาสตา และบิสกิต 3 รายการ ทั้งนี้ ในปี 2560 มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้ง 31 รายการ จากไทยไป EU สูงถึง 1,395 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน เสริมว่าในส่วนของUKกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ได้ยื่นขอสิทธิในการเจรจาขอรับจัดสรรโควตาจาก UK ภายใต้ WTO แล้วเช่นกันเมื่อเดือนมีนาคม 2562 โดยครอบคลุมสินค้าเกษตร 30 รายการ อาทิ ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก 10 รายการ ข้าว 7 รายการ มันหวาน มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 3 รายการ ปลาและกุ้งแปรรูป 6 รายการ อาหารสำเร็จรูป น้ำส้ม พาสตา และบิสกิต 4 รายการ ซึ่งขณะนี้ ไทยอยู่ระหว่างติดตามเร่งรัดให้ UKตอบรับสิทธิในการเจรจาของไทย ทั้งนี้ ในปี 2560 การส่งออกสินค้าทั้ง 30 รายการจากไทยไป UK มีมูลค่า 627.61ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การเจรจาหลังจากนี้จะมุ่งเน้นการกำหนดสัดส่วนโควตา เพื่อรักษาส่วนแบ่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยในการส่งออกไป EU และ UK เนื่องจากที่ผ่านมา การส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) ข้าว มันสำปะหลัง และปลาแปรรูป ของไทยได้รับประโยชน์จากปริมาณโควตาเดิมที่ EU จัดสรรให้ไทยเป็นการเฉพาะ ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้ปริมาณโควตานี้จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ทั้งนี้ กรมฯ ตั้งเป้าว่า การเจรจาน่าจะสามารถหาข้อสรุปได้ภายในเดือนกันยายน 2562 ก่อนที่ UK จะถึงกำหนดออกจาก EU ในเดือนตุลาคม 2562 อย่างไรก็ตาม หาก UK และ EU สามารถตกลง withdrawal agreement กันได้ ก็จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อปรับตัว โดยระบบความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง UK กับ EU จะยังคงเดิมจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านในเดือนธันวาคม 2563 แต่ถ้าหากสองฝ่ายไม่สามารถมีข้อตกลง withdrawal agreement ร่วมกันได้ก่อนเส้นตายในเดือนตุลาคมนี้ หรือที่เรียกว่า Hard Brexit ก็จะส่งผลให้ UK ต้องกำหนดอัตราภาษี และโควตานำเข้าสินค้าต่างๆ ของตนเอง แยกจาก EUตั้งแต่ตุลาคมนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้ารวม 47,271 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 25,014 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้าจาก EU มูลค่า 22,257 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยและสหราชอาณาจักรมีมูลค่าการค้ารวม 7,044 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไป UK มูลค่า 4,062 ล้านเหรียญสหรัฐ และ UK นำเข้าจากไทยมูลค่า 2,981.81 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ รถยนต์ อาหารทะเล เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติก เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
31 พฤษภาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ