กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ‘ปลื้ม’ เอฟทีเอดันยอดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยพุ่งร้อยละ 659 พบส่งออกไปอาเซียนโตมากสุดกว่าร้อยละ 4,680 เล็งผลักดันการเจรจาต่อเนื่องเพิ่มความยืดหยุ่นในกฎถิ่นกำเนิดสินค้า พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอเพิ่มขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ประเทศคู่เอฟทีเอยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทย ทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบสถิติการส่งออกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 659 และหากพิจารณาเป็นรายตลาด พบว่าการส่งออกไปอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึงร้อยละ 4,680 รองลงมาคือจีนขยายตัวร้อยละ 2,757 ส่วนประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 1,586 อินเดียขยายตัวร้อยละ 838 นิวซีแลนด์ขยายตัวร้อยละ 452 ออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 99 และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 72
ทั้งนี้ ในปี 2561 อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 11,977.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.74 ของยอดส่งออกทั้งหมด โดยตลาดส่งออกหลักและส่วนแบ่งตลาด ได้แก่ อาเซียน ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงินและทอง อัญมณีประเภทเพชร และพลอย เป็นต้น สำหรับการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง) คิดเป็นร้อยละ 51.78 ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับรวมของไทย รวมมูลค่ากว่า 6,202.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สอดคล้องกับสถิติปี 2561 ที่อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้นๆอาจกล่าวได้ว่าเอฟทีเอมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยสร้างแต้มต่อและเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย
นางอรมน เพิ่มเติมว่า แม้คู่เจรจาของไทยในทุกกรอบเอฟทีเอ จะยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากไทยแล้ว แต่กรมฯ จะผลักดันการเจรจาในส่วนอื่นที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเจรจากฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าให้สะท้อนรูปแบบกระบวนการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปัจจุบันที่ต้องการความยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อความเหมาะสมด้านต้นทุน คุณภาพสินค้า และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
“เนื่องจากการเปิดตลาดภายใต้เอฟทีเอถือเป็นแต้มต่อสำคัญของผู้ประกอบการไทย แต่ที่ผ่านมาผู้ส่งออกอาจจะยังไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีขณะทำการค้ากับประเทศที่มีเอฟทีเอกับไทย จึงอยากเชิญชวนผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออก เพื่อให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบคู่แข่งเนื่องจากผู้ส่งออกสามารถนำไปขอลดหรือยกเว้นอากรขาเข้าจากประเทศปลายทางที่เป็นภาคีความตกลงเอฟทีเอกับไทยได้ โดยกรมฯ พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีได้ที่ เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือโทร. 0 2507 7555” นางอรมน เสริม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
4 มิถุนายน 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ