นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในโอกาสของการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562 จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ ในช่วงค่ำวันที่ 21 มิถุนายน และช่วงเช้าของวันที่ 22 มิถุนายน 2562 เพื่อหารือกำหนดท่าทีร่วมอาเซียนในการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2562 ตามที่อาเซียนและผู้นำ RCEP ตั้งเป้าหมายไว้ โดยหลังจากนี้จะมีการประชุม RCEP ที่สำคัญ เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรี RCEP ในเดือนสิงหาคม ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเดือนกันยายนและพฤศจิกายน ที่ประเทศไทย รวมทั้งการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส RCEP ในปลายเดือนมิถุนายน ที่เบลเบิร์น ออสเตรเลีย และปลายเดือนกรกฎาคม ที่เมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้คืบหน้าหาข้อสรุปได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในระหว่างการประชุมอาเซียนซัมมิทที่กรุงเทพฯ คือ ผู้นำอาเซียนจะพบหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ในช่วงบ่ายวันที่ 22 มิถุนายน 2562 โดยสืบเนื่องจากที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปีนี้ ในส่วนของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC)นายอรินทร์ จิรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะรับหน้าที่เป็นประธาน ASEAN-BAC เช่นเดียวกัน โดยคาดว่าสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจะนำเสนอประเด็นที่ต้องการให้อาเซียนเร่งดำเนินการในปี 2562 ให้ผู้นำอาเซียนได้รับทราบ โดยเฉพาะ เรื่องการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบการวิชาชีพอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การพัฒนา SMEs การปรับปรุงกลไกการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน พร้อมนำเสนอผลการจัด Symposium on AHEAD (ASEAN Human Empowerment And Development) ในวันที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่ง ASEAN-BAC ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น ให้ผู้นำรับทราบด้วย โดยผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ http://ahead.dtn.go.th
ทั้งนี้ การรับตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยปีนี้ ไทยได้เสนอแนวคิด Advancing Partnership for Sustainability เป็น Theme สำคัญของการประชุมอาเซียนปีนี้ ซึ่งในส่วนเศรษฐกิจประกอบด้วย 3 ด้าน 13 ประเด็น ได้แก่ (1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต อาทิ การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย (2) ความเชื่อมโยง อาทิ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติอาทิ การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมAEM Retreatครั้งที่ 25 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่จังหวัดภูเก็ต ได้ให้ความเห็นชอบทั้ง 13 ประเด็นแล้ว
นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาการทำงานของอาเซียนในด้านเศรษฐกิจประสบความสำเร็จหลายเรื่อง อาทิ (1) ลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA)ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าบริการเกินความจำเป็น รวมทั้งยัง
ช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพสามารถเติบโตมากขึ้นในประเทศอาเซียน เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร บริการด้านก่อสร้าง เป็นต้น (2) ลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA)เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน (3) ได้ข้อสรุปการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมการตรวจสอบรับรองรถยนต์และชิ้นส่วน เพื่อให้มีการรับรองผลการตรวจสอบระหว่างหน่วยงานทดสอบของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่ต้องตรวจสอบและรับรองซ้ำ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการค้าขายภายในอาเซียนมากขึ้นและอุปสรรคทางการค้าลดลง ช่วยลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการส่งออก-นำเข้าสินค้ายานยนต์ภายในภูมิภาค (4) ได้ข้อสรุปประเด็นด้านนโยบายของการเจรจาปรับปรุงพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกให้สมาชิกอาเซียนมีที่พึ่งในการแก้ปัญหาทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน (5) ได้ข้อสรุปการเจรจาข้อบทว่าด้วยระเบียบปฏิบัติด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียน (Operational Certificate Procedures: OCP) เพื่อรองรับระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) โดยผู้ประกอบการสามารถดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง จึงช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน ในปี 2561 เป็น 113.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10.4 โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน 68.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการนำเข้าจากอาเซียน 45.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้นและสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
14 มิถุนายน 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ