‘พาณิชย์’ จับมือ ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย’ จัดสัมมนา ‘AHEAD’ คุณภาพสากล มุ่งยกระดับแรงงานไทย สู่การสร้างแนวทางพัฒนาแรงงานอาเซียนยุค 4IR

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2019 13:45 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย จัดสัมมนาระดับนานาชาติ ‘Symposium on ASEAN Human Empowerment And Development’ หรือ ‘AHEAD’ ในวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ เตรียมพร้อมทุกภาคส่วนรับมือผลกระทบของเทคโนโลยีในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีต่อแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพในอาเซียน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า งานสัมมนาระดับนานาชาติ ‘Symposium on ASEAN Human Empowerment And Development’ หรือ ‘AHEAD’ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย โดยจัดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีต่อแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพในอาเซียน และหารือแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยผลจากการสัมมนาครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย จะนำไปใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบการวิชาชีพอาเซียนเพื่อรับมือกับ 4IR พร้อมทั้งเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้ความเห็นชอบ และเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบต่อไป

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติดิจิทัลผสานการเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (ArtificialIntelligence: AI) มาทดแทนแรงงานมนุษย์ การเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตเข้ากับทุกสรรพสิ่ง (InternetofThings: IoT) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะราย การพัฒนาสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล การสร้างเศรษฐกิจแบบแบ่งปันผ่านการใช้งานแพลตฟอร์มบนอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมทางชีวภาพอำนวยความสะดวกในการจัดลำดับทางพันธุกรรมและปรับแต่งพันธุกรรมเพื่อพัฒนาวิธีบำบัดโรคสำหรับคนไข้แต่ละราย

ทั้งนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก่อให้เกิดอาชีพที่ใช้ระบบดิจิทัลเป็นพื้นฐาน ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิต อย่างไรก็ดี จากการทดแทนแรงงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้คาดการณ์ว่าแรงงานประมาณ 375 ล้านคนทั่วโลก อาจต้องเปลี่ยนอาชีพภายในปี 2573 สำหรับอาเซียน ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพประมาณ 28 ล้านคน ที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในอนาคต

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับความคาดหวังของภาคเอกชนอาเซียนในการยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ผลกระทบของ 4IR ต่อภาคอุตสาหกรรม ทรัพยากรมนุษย์และการจ้างงาน บทบาทของอาชีวศึกษาต่อการพัฒนาและสร้างเสริมทักษะแรงงาน รวมทั้งมีการหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญประเทศต่างๆ ในประเด็นความท้าทาย ผลกระทบ โอกาสจากยุค 4IR การยกระดับแรงงานทักษะ นโยบายและแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีกทั้ง ยังได้จัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมล้ำสมัยจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย อาทิ หุ่นยนต์บริการขนส่งสำหรับโรงพยาบาล ซอฟต์แวร์โซลูชั่นบริหารงานบุคคลออนไลน์ โปรแกรมเพื่อนคู่กายร้านค้าออนไลน์ และ mobile application สำหรับการจองคิวอีกด้วย

“เพื่อให้แรงงานมีความพร้อมรับมือต่ออาชีพในอนาคต การพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Reskilling) และเสริมทักษะใหม่ (Upskilling) ของแรงงานให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยผ่านการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านเทคนิค ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการ ทักษะด้านสังคมและการสื่อสาร จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไทย นอกจากการประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของคนในประเทศแล้ว ในวาระการเป็นประธานอาเซียนของไทย สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานในส่วนของภาคธุรกิจของอาเซียน จึงเสนอให้มีการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพของอาเซียน เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเป็น 1 ใน 5 ประเด็นผลักดันด้านเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมของอาเซียนสู่อนาคต” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

21 มิถุนายน 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ