‘พาณิชย์’ เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุม SEOM เร่งติดตามประเด็นด้านเศรษฐกิจ พร้อมหารือคู่เจรจา 9 ประเทศ ผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 10, 2019 14:15 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/50ระหว่างวันที่ 14 – 18 กรกฎาคมนี้ ณ กรุงเทพฯ เร่งติดตามความคืบหน้าประเด็นด้านเศรษฐกิจที่เหลืออีก 11 ประเด็น ก่อนเสนอผู้นำอาเซียนเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 9 ประเทศ หารือผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/50 เป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 ก่อนเสนอที่ประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งนอกจากการประชุม SEOM จะเป็นการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังมีการประชุมระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการประชุม SEOM ครั้งนี้ จะหารือประเด็นที่สำคัญ เช่น ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ (Priority Economic Deliverables) ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานสาขาต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ SEOM บทบาทเชิงรุกของอาเซียนในเรื่องการปฏิรูป WTO และการเตรียมท่าทีอาเซียนก่อนพบกับคู่เจรจา 9 ประเทศ เป็นต้น รวมทั้งการพบหารือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) และผู้แทนโครงการสนับสนุนด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรป (ARISE Plus)

นางอรมน เสริมว่า สำหรับการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จ ใน 3 ด้าน 13 ประเด็น ปีนี้ ได้แก่ (1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น (2) ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นต้น และ (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน เป็นต้น ซึ่งอาเซียนสามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้ว 2 ประเด็น คือ การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน ซึ่งที่ประชุม SEOM จะติดตามความคืบหน้าในประเด็นที่เหลืออีก 11 ประเด็นต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินงานของคณะทำงานสาขาต่างๆ ซึ่ง SEOM จะต้องติดตามความคืบหน้าเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568 (AEC Blueprint 2025) เช่น คณะทำงานด้านการค้าสินค้า/ถิ่นกำเนิดสินค้า เรื่อง การใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ซึ่งขณะนี้สมาชิกอาเซียนสามารถตกลงระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าร่วมกันได้แล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมีนาคม 2563 คณะทำงานเรื่องมาตรฐานและคุณภาพในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (MRA ยานยนต์) ที่ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วและอยู่ระหว่างการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในเดือนกันยายน 2562

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพบหารือระหว่าง SEOM กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย จะมีประเด็นหารือที่สำคัญ เช่น (1) ติดตามความพร้อมของประเทศสมาชิกในการเริ่มใช้บังคับกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าฉบับใหม่ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA) และความคืบหน้าความร่วมมือต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (2) ติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งได้ลงนามพิธีสารฯ ครบทุกประเทศ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 (3) หารือความคืบหน้าการเตรียมการเพื่อยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ให้เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงขึ้น และหารือท่าทีร่วมในเรื่องการปฏิรูป WTO และ (4) ความคืบหน้าการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยในปี 2561 ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

8 กรกฎาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ