“พาณิชย์” เผยผลสำเร็จการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนล่าสุด ประเทศสมาชิกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเองได้ในปีหน้า พร้อมระบบ ASW และเตรียมให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ในเดือนกันยายนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2019 15:39 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

“พาณิชย์” เผยผลสำเร็จการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียนล่าสุด ประเทศสมาชิกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเองได้ในปีหน้า พร้อมระบบ ASW และเตรียมให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ในเดือนกันยายนนี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลสำเร็จการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/50 ที่ประชุมสามารถตกลงกันในประเด็นสำคัญที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียนปี 62 อาทิ การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง ระบบ ASEAN Single Window: ASW ซึ่งพร้อมดำเนินการได้ในปี 63 และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน ปีนี้ ลงนามในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน และพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting : SEOM) ครั้งที่ 3/50 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการทำงานของคณะทำงานด้านต่างๆ ภายใต้เสาเศรษฐกิจ พบในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หลายเรื่องมีความคืบหน้าได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน อาทิ (1) การจัดทำระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งดำเนินการสำเร็จแล้ว และพร้อมใช้ระบบนี้ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีของอาเซียนด้วยตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) จากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป (2) การจัดทำระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ (ASEAN Single Window: ASW) ใกล้แล้วเสร็จ โดยขณะนี้มีสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และกัมพูชา ได้เชื่อมต่อระบบและแลกเปลี่ยน Form D ทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังเหลือสมาชิกอาเซียนอีก 3ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ เมียนมา และสปป ลาว ที่อยู่ระหว่างทดสอบระบบ มีความคืบหน้าไปมากและพร้อมดำเนินการให้สำเร็จ เชื่อมต่อระบบครบ 10 ประเทศ ภายในปีนี้ ซึ่งหากระบบ ASW สมบูรณ์ จะช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนของภาคธุรกิจ เพราะสามารถยื่น Form D ผ่านระบบออนไลน์และหน่วยงานของรัฐที่ด่านพรมแดนจะสามารถตรวจสอบเอกสาร และปล่อยสินค้าได้อย่างรวดเร็ว (3) การรับรองหลักการเพื่อเป็นแนวทางให้สมาชิกอาเซียนปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้สอดคล้องกัน (ASEAN General Principles for Harmonisation of Regulatory Regimes) (4) การตกลงที่จะทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement : ATIGA) ซึ่งบังคับใช้มาแล้ว 8 ปี ให้ทันสมัยสามารถรองรับรูปแบบการค้าในปัจจุบันและลดอุปสรรคทางการค้า

นางอรมน เสริมว่า ที่ประชุมเตรียมเสนอให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนกันยายน ศกนี้ ลงนาม ในเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ที่อาเซียนหาข้อสรุปร่วมกันได้ ได้แก่ (1) ความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะเมื่อผ่านการตรวจสอบของหน่วยงานทดสอบมาตรฐานในประเทศสมาชิกอาเซียนแล้ว เมื่อส่งออกไปยังสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ประเทศนั้นจะยอมรับผลการตรวจสอบนั้นเช่นกัน โดยไม่ต้องตรวจซ้ำ และ (2) พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้กลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งเป็นไปตามหลักการและกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO โดยที่ประชุมเห็นพ้องให้สมาชิกอาเซียนไปดำเนินกระบวนการภายในประเทศของตนให้เสร็จก่อนเสนอให้ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าว

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ตกลงที่จะเร่งส่งเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจไปประจำที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ตามมติผู้นำอาเซียนที่ให้ทั้งสามเสาประชาคมอาเซียน (เศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม) ส่งผู้แทนไปประจำการ ณ คณะผู้แทนถาวรฯ ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงเสาการเมืองเท่านั้นที่มีผู้แทนประจำครบทั้ง 10 ประเทศ โดยในส่วนของเสาเศรษฐกิจ ขณะนี้มีเพียงสิงคโปร์ และ สปป.ลาว ที่ส่งผู้แทนไปประจำแล้ว ยังเหลืออีก 8 ประเทศ รวมทั้งไทยที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อส่งผู้แทนไปประจำ โดยตั้งเป้าจะต้องดำเนินการให้สำเร็จครบ 10 ประเทศภายในปีนี้ นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเพื่อเตรียมส่งคณะผู้แทนอาเซียนด้านเศรษฐกิจไปเยือนติมอร์-เลสเต เพื่อหาข้อมูลและทำความเข้าใจนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต เพื่อประกอบการประเมินการขอสมัครเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเตด้วย

นางอรมน เสริมว่า การประชุมครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (ASEAN Women Entrepreneurs Network: AWEN) พบหารือกับซีออมเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้ ผู้แทนไทย (คุณหญิงณัฐิกาวัธนเวคิน- อังอุบลกุล) ดำรงตำแหน่งประธาน AWEN ได้นำคณะ AWEN เข้าพบหารือซีออม ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่า ปัจจุบัน ร้อยละ 50.2 ของจำนวนประชากรในอาเซียนเป็นสตรี และ ร้อยละ 30-35 ของจำนวนผู้ประกอบการในอาเซียนเป็นสตรี ดังนั้น จึงจำเป็นที่อาเซียนจะต้องร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีมีบทบาทมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เช่น พัฒนาทักษะของผู้ประกอบการสตรีขนาดเล็กและย่อย (MSMEs) รับมือเทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) การใช้ประโยชน์จาก Big Data และเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้ประกอบการสตรีรายย่อย เป็นต้น

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

18 กรกฎาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ