‘พาณิชย์’ ปลื้ม ปลัดเศรษฐกิจอาเซียนไฟเขียวประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ พร้อมส่งไม้ต่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกันยายนนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 31, 2019 14:58 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ กางผลประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ครั้งที่ 36 ปลื้มที่ประชุมไฟเขียวแนวทางทบทวนการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 พร้อมเห็นชอบให้เริ่มประเมินประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจที่อาจเป็นคู่เจรจา FTA ในอนาคตตลอดจนหารือระบบบริหารจัดการกฎระเบียบของประเทศสมาชิกและแนวทางการรับมือการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เตรียมเสนอรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน กันยายนนี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 36 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยที่ประชุมฯ เห็นชอบแนวทางการทบทวนการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 รวมทั้งเห็นชอบให้อาเซียนเริ่มดำเนินการประเมินประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจที่อาจเป็นคู่เจรจา FTA ของอาเซียนในอนาคตนอกจากนี้ยังหารือเรื่องการศึกษาเรื่องระบบบริหารจัดการกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งรับทราบแนวทางการดำเนินงานต่อไปของอาเซียน ในเรื่องการรับมือกับการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR

นายบุณยฤทธิ์ เสริมว่าแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC Blueprint 2025 ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 และจะครบครึ่งทางในปี 2563 ดังนั้นอาเซียนจึงต้องประเมินผลการทำงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายไปมากน้อยเพียงใด มีประเด็นใดที่ประสบความสำเร็จหรือควรปรับปรุง ทั้งการดำเนินการในภาพรวมและในส่วนของคณะทำงานในสาขาต่างๆ เช่น การเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และการดำเนินงานในสาขาเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งการประเมินแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการค้าโลกที่จะเกิดขึ้นและส่งผลต่อเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินงานต่อไป โดยการทบทวนจะแล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งทุกประเทศเห็นด้วยกับข้อเสนอของไทยที่เสนอแนะให้มีการสื่อสารให้ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปได้รับทราบเพื่อให้ทุกภาคส่วนทราบถึงโอกาสและประโยชน์ที่จะได้รับจากมาตรการต่างๆ ของอาเซียน รวมถึงข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่างๆ ในการนำมาปรับปรุงแผนงานของอาเซียนในระยะต่อไป

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบให้อาเซียนดำเนินการประเมินประเทศหรือกลุ่มเศรษฐกิจที่แสดงความสนใจหรือมีศักยภาพที่จะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับอาเซียน และอาจมีการจัดทำ FTA กับอาเซียนในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ชิลี สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่จะใช้ประเมิน เช่น ความสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีต่ออาเซียน ความคาดหวังในการดำเนินความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย ทรัพยากรที่ต้องใช้ เป็นต้น เพื่อให้อาเซียนสามารถวางกลยุทธ์และจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคได้อย่างเหมาะสม และอาเซียนได้รับประโยชน์สูงสุด

นายบุณยฤทธิ์ เพิ่มเติมว่าที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับการศึกษาระบบบริหารจัดการกฎระเบียบของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยประเทศไทยจัดเป็นประเทศลำดับต้นๆ ในอาเซียนที่มีระบบบริหารจัดการกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ โดยการศึกษานี้ จัดทำเพื่อเป็นข้อเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาระบบการออกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เป็นภาระต่อภาคธุรกิจโดยไม่จำเป็น มีความโปร่งใส และดึงดูดการลงทุน

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานต่อไปของอาเซียนในเรื่องการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4IR ซึ่งเป็นผลจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID-IGNITE) จัดการประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 โดยเห็นชอบใน 3 ประเด็น คือ 1) มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนเรื่อง 4IR ที่ครอบคลุมการดำเนินงานและข้อริเริ่มต่างๆ ของทั้งสามเสาอาเซียนรวมทั้งทิศทางในเรื่อง 4IR 2) พิจารณากลไกการการแบ่งปันข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ 4IR และ 3) พิจารณากลไกที่เหมาะสมสำหรับสนับสนุนการดำเนินการในประเด็น 4IR อาทิ การใช้กลไกการประชุมที่มีในปัจจุบัน หรือจัดตั้งสาขาความร่วมมือใหม่เพื่อดูแลและติดตามประเด็น 4IR โดยเฉพาะ

“ผลจากการประชุม HLTF-EI ในครั้งนี้ จะถูกจัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEM ครั้งที่ 51 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกันยายนนี้ ให้ความเห็นชอบเพื่อไปสู่การดำเนินการในขั้นต่อไป” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

22 กรกฎาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ