กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยไทยโชว์ผลงานปฏิรูปกฎหมาย เพิ่มการอำนวยความสะดวกธุรกิจ ในการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย – สหรัฐฯ พร้อมชวนถกแนวทางเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ฉวยจังหวะขอยกเว้นการขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมภายใต้มาตรา 232 ด้านสหรัฐฯ ขานรับแนวความคิดเชื่อมโยงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่ผู้นำอาเซียนประกาศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย – สหรัฐฯ หรือ TIFA JC ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ โดยที่ประชุมฯ ได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้า การค้าในยุคดิจิทัล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองแรงงาน และแนวทางพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งไทยได้แจ้งให้สหรัฐฯ ทราบถึงพัฒนาการของนโยบายเศรษฐกิจของไทย ที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยที่ผ่านมา มีการปฏิรูป และออกกฎหมายใหม่ๆ ที่สำคัญหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ. แข่งขันทางการค้า พ.ร.บ. ศุลกากร กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้ไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจดีขึ้นจากหลายสถาบัน ซึ่งสหรัฐฯ ยินดีกับพัฒนาการดังกล่าว
นางอรมน เสริมว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก โดยเห็นว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ สอดคล้องกับหลักการในเอกสารมุมมองอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indonesia-Pacific) ที่ผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และต้องการร่วมมือกับอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานระหว่างพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิก โดยพร้อมจะร่วมมือกับไทยในฐานะประธานอาเซียนขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ไทยยังขอให้สหรัฐฯ เร่งกระบวนการตรวจสอบสุขอนามัยสินค้าส้มโอไทย ให้สามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ รวมทั้งได้สอบถามถึงกลไกการดำเนินงานเพื่อขอยกเว้นการขึ้นภาษีศุลกากรกับสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมภายใต้มาตรา 232 ซึ่งสหรัฐฯ แจ้งว่า การตรวจสอบส้มโอยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ขณะที่การตัดสินใจยกเว้นประเทศใดจากการขึ้นภาษีภายใต้มาตรา 232 ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปการคุ้มครองแรงงานไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และการพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้สาร Ractopamine ต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้งสองเรื่องยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสหรัฐฯ ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำงานร่วมกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นประเด็นที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ และสมาคมผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ ได้ยื่นขอให้สหรัฐฯ ทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย
ทั้งนี้ การประชุม TIFA จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยฝ่ายไทยกับสหรัฐฯ สลับกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในปีนี้ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าผู้แทนฝ่ายไทย และมีนายคาร์ล เอทเลอร์ (Mr. Karl Ehlers) ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เป็นหัวหน้าผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ของไทย อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมประชุม
ทั้งนี้ ในปี 2561 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้ารวม 43,216 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 4.22 เป็นการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ 28,116 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 15,099 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
24 กรกฎาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ