กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการจัดสัมมนารับฟังความเห็นเรื่อง “การปรับปรุงพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน” ชี้ทุกภาคส่วนเชื่อว่าพิธีสารฯ ฉบับใหม่มีกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการจัดสัมมนารับฟังความเห็นเรื่อง “การปรับปรุงพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 เพื่อให้ข้อมูลเรื่องกระบวนการและขั้นตอนของการระงับข้อพิพาททางการค้าของอาเซียนฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ขานรับและเห็นตรงกันว่า จะช่วยให้สมาชิกอาเซียนมีกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางอรมน เสริมว่า กลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของอาเซียนฉบับปรับปรุงใหม่นี้ มีสาระสำคัญ เช่น ปรับเงื่อนไขการฟ้องร้องให้ชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ปรับขั้นตอนและระยะเวลาในการตัดสินคดีและการปฏิบัติตามคำตัดสินคดีให้ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ปรับให้สมาชิกที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น มีกลไกให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อสมาชิกอาเซียนที่ต้องการ และเพิ่มให้อนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม และน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศสมาชิกอาเซียน ในยามที่กลไกระงับข้อพิพาททางการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) กำลังประสบปัญหาเรื่องการคัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ชุดใหม่แทน 6 ใน 7 คน ที่จะหมดวาระในเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งหากสมาชิก WTO ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ จะทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO หยุดชะงักลง และสมาชิก WTO จะขาดที่พึ่งในการระงับข้อขัดแย้งทางการค้า อย่างไรก็ดี อาเซียนจะไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้ เพราะมีกลไกระงับข้อพิพาทฉบับใหม่ใช้แก้ปัญหาการค้าภายในอาเซียนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงกลไกของ WTO
ทั้งนี้ ขณะนี้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ต่างอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อพร้อมลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุงใหม่ร่วมกัน ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ที่กรุงเทพฯ โดยหลังจากลงนาม พิธีสารฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับภายหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันครบทั้ง 10 ประเทศ โดยหลังจากลงนาม พิธีสารฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับภายหลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันครบทั้ง 10 ประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
9 สิงหาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ