กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของ สหราชอาณาจักร (Brexit) แบบไม่มีข้อตกลง (no-deal) จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกไทยไป สหราชอาณาจักร เนื่องจากไทยและประเทศคู่แข่งใช้กฎกติกาเดียวกัน สอดคล้องกับมุมมองอังค์ถัด (UNCTAD) ที่คาดว่าไทยจะสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว พร้อมเล็งชวนทำ FTA
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ สหราชอาณาจักรจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลง (no-deal) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 และการที่ สหราชอาณาจักรได้ประกาศอัตราภาษีนำเข้าที่จะใช้เป็นการชั่วคราว (เป็นเวลา 1 ปี) กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ภายหลังออกจากการเป็นสมาชิกอียูแล้ว โดยประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยที่ยังไม่มีความตกลงการค้ากับสหราชอาณาจักรจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราเดียวกัน โดยสหราชอาณาจักรจะเก็บภาษีที่ร้อยละ 0 หรือยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้ากว่าร้อยละ 87 ของรายการสินค้าทั้งหมด สำหรับสินค้าที่เหลือ เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) เนื้อหมู เนื้อแกะ ข้าว น้ำตาล เซรามิก รถยนต์ เอธานอล เนย และชีส เป็นต้น
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรจะยังคงเก็บภาษีนำเข้าอยู่ แต่จะเก็บในอัตราที่เท่ากันหรือต่ำกว่าที่เคยเก็บตอนที่ยังเป็นสมาชิกอียู ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทยเพราะสินค้าส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกจะสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่นๆ จากที่อาจเคยเสียเปรียบเพราะไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีแบบจีเอสพี (GSP) หรือไม่ได้รับแต้มต่อภาษีในกรอบเอฟทีเอ ดังนั้นผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยควรศึกษาตลาด และแสวงหาโอกาสจากการยกเลิกภาษีของ สหราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อัญมณี เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น
นอกจากนี้ คาดว่าภายหลังเบร็กซิท สหราชอาณาจักรจะปรับกฎระเบียบการค้าและการลงทุนให้ยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่ากฎระเบียบของอียูเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเพื่อให้ภาคการผลิตและการค้าของสหราชอาณาจักรเกิดความต่อเนื่อง นอกจากนั้น สหราชอาณาจักรจะยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) กับสินค้าไทย 4 รายการ ที่เคยถูกเก็บในช่วงที่สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกอียู เช่น ข้าวโพดหวาน ตาข่ายใยแก้ว รถลากพาเล็ท และข้อต่อท่อเหล็กอบเหนียวสลักเกลียว เป็นต้น
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติม จากการประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้ว เชื่อว่าการออกจากสมาชิกอียูของ สหราชอาณาจักรแบบไม่มีข้อตกลงจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองขององค์กรการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ที่ประเมินว่าจะเป็นผลบวกต่อไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออก และจะสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในสหราชอาณาจักรได้เพิ่มขึ้นถึง 3,930 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 107 ของการส่งออกไปสหราชอาณาจักร
นางอรมน กล่าวอีกว่า สำหรับสินค้าที่สหภาพยุโรปกำหนดโควตาภาษีกับไทย อาทิ มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเจรจากับอียูและสหราชอาณาจักรเรื่องการปรับโควตาภาษีใหม่ภายใต้ข้อผูกพันองค์การการค้าโลก (WTO) จากกรณีเบร็กซิท เพื่อให้ไทยได้รับจัดสรรปริมาณโควตารวม (อียูและสหราชอาณาจักรรวมกัน) ไม่น้อยกว่าเดิม สะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับสมาชิกอียูที่เหลือ 27 ประเทศ และสหราชอาณาจักรให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน กรมฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และหารือกับฝ่ายสหราชอาณาจักรเรื่องโอกาสที่จะจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกันในอนาคตหลังเบร็กซิท
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้ารวม 25,818 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียู 14,087 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอียู 11,731 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และไก่แปรรูป เป็นต้น สำหรับไทยและสหราชอาณาจักรมีมูลค่าการค้ารวม 3,829 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักร 2,359 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากสหราชอาณาจักร 1,470 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น รถยนต์ ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรกล และพลาสติก เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
28 สิงหาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ