‘กรมเจรจาฯ’ พอใจ เอฟทีเอดันส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทยทะยานสู่อันดับ 6 โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2019 13:29 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปลื้ม เอฟทีเอดันสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวต่อเนื่องท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ฟันมูลค่าส่งออก 8 เดือนแรกของปี 2562 กว่า 1,111 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมชวนผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอเพื่อสร้างแต้มต่อในตลาดต่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่น่าจับตามอง มีมูลค่าการส่งออกเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 1,111 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 มีประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ อาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย สินค้าส่งออกสำคัญและสัดส่วนการส่งออก ได้แก่ อาหารสำหรับสุนัขและแมว มีสัดส่วนร้อยละ 92 และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มีสัดส่วนร้อยละ 18 จากมูลค่าการส่งออกดังกล่าวทำให้ปัจจุบันไทยขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 6 ของโลก รองจากเนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 7 ของโลกในปี 2561

นางอรมน เพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 790 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไปยัง 17 ประเทศ ที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย (ยกเว้นฮ่องกง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2562) รวม 902 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.50 ของการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีที่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น อาเซียน ร้อยละ 6,021 จีน ร้อยละ 3,969 เกาหลีใต้ ร้อยละ 526 นิวซีแลนด์ ร้อยละ 450 อินเดีย ร้อยละ 424 ออสเตรเลีย ร้อยละ 194 และญี่ปุ่น ร้อยละ 50 เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงมีหลายด้าน อาทิ การเพิ่มขึ้นของจำนวนสัตว์เลี้ยง และลักษณะการเลี้ยงที่ใส่ใจกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น คุณภาพการผลิตของสินค้าไทยซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ประกอบกับการมีบริษัทผู้ผลิตต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งเอฟทีเอได้เข้ามาช่วยขจัดอุปสรรคภาษีนำเข้าในประเทศคู่ค้าทำให้สินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยได้แต้มต่อและเพิ่มโอกาสในการส่งออกมากขึ้น โดยปัจจุบันสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทุกรายการไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 15 ประเทศคู่ค้าที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง ส่วนอีก 3 ประเทศคู่เอฟทีเอได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว แต่คงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการ ทั้งนี้ ไทยยังมีโอกาสในการเจาะขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงลาตินอเมริกา ซึ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง โดยกรมฯ พร้อมเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้เอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) รวมถึงการเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าอื่นๆ ในอนาคต เช่น สหภาพยุโรปเป็นต้น

“ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์ไทยควรรักษามาตรฐานสินค้า ให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องศึกษาแนวโน้มตลาดเพื่อให้ครองใจผู้บริโภคในตลาดโลก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงควรมีคุณภาพ ช่วยดูแลสุขภาพให้กับสัตว์เลี้ยง และมีความหลากหลาย เช่น อาหารปลอดสารพิษ อาหารแคลอรี่ต่ำรวมทั้งอาหารสำหรับสัตว์ที่เจ็บป่วย เป็นต้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการวางแผนผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยสนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือโทร 0 2507 7555” นางอรมน กล่าว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

4 ตุลาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ