กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดแผนเดินหน้ารับฟังความเห็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศเตรียมฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียูประเดิมรอบแรกภาคตะวันออก 10 ตุลาคมนี้ที่จังหวัดชลบุรีหลังซาวด์เสียงความเห็นกลุ่มใหญ่ที่กรุงเทพฯ เมื่อกันยายนที่ผ่านมา ก่อนนำความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศและผลการศึกษาเสนอรัฐบาลตัดสินใจปลายปีนี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรมอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า ภายหลังจากกรมฯ ได้รับนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เร่งหาข้อสรุปฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ภายในปี 2562 ซึ่งกรมฯ ได้มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาทำการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการฟื้นการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู โดยให้ความสำคัญกับการศึกษาเปรียบเทียบความตกลงเอฟทีเอที่อียูได้ลงนามกับประเทศต่างๆ ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และกลุ่มเมร์โกซูร์ (กลุ่มประเทศตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง ประกอบด้วยบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย) เป็นต้น ว่าหากไทยไม่เร่งฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับอียูจะเสียประโยชน์หรือโอกาสที่ควรจะได้รับหรือไม่ อย่างไร และหากตัดสินใจเข้าร่วมจะได้ประโยชน์อะไร และต้องปรับมาตรฐานข้อปฏิบัติทางการค้าแค่ไหน อย่างไร ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562
ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกษตรกร และภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลความเห็นและมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ให้รอบด้านและครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งหลังจากการจัดรับฟังความเห็นกลุ่มใหญ่ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กรมฯ เตรียมเดินสายจัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียในภูมิภาคต่างๆ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปีนี้ หลังจากนั้นจะรวบรวมผลการศึกษาและผลรับฟังความเห็นเสนอระดับนโยบายเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปีนี้ และน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สหภาพยุโรปแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ที่จะตัดสินใจหรือมีนโยบายเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย
นางอรมน เสริมว่า สำหรับการสัมมนารับฟังความเห็นในส่วนภูมิภาคได้กำหนดแผนการจัดหารือ มีดังนี้ (1) ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ในวันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมไบรท์ตัน แกรนด์ พัทยา (2) ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ (3) ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ในวันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรมที อาร์ ร็อค ฮิลล์ และ (4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจังหวัดขอนแก่น ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โดยการจัดหารือแต่ละครั้ง กรมฯ ได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ ช่วยนำเสนอข้อมูล และบทวิเคราะห์เชิงสถิติเกี่ยวกับเอฟทีเอไทย-อียู ทั้งประเด็นการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน และประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และประเด็นสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจแง่มุมของเอฟทีเอมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าร่วมการสัมมนาระดมความเห็นในส่วนภูมิภาคแต่ละครั้ง สามารถลงทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ URL: regis.dtn.go.th รหัสลงทะเบียน 9000 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0 2507 7512
นางอรมน เพิ่มเติมว่า จากการจัดหารือรับฟังความเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้มีการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เพื่อเป็นโอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของไทย เช่น สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น โดยมีข้อกังวลว่าหากไทยไม่ทำเอฟทีเอกับอียู ไทยจะเสียโอกาสทางการค้าและโอกาสในการเป็นฐานการผลิต การกระจายสินค้า และการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปให้ประเทศอื่นๆ ที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว ขณะที่มีผู้ประกอบการบางส่วน และภาคประชาสังคม ตั้งข้อสังเกตและมีข้อกังวลในส่วนที่ไทยอาจจะต้องเปิดตลาดหรือปรับกฎระเบียบที่จะกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบบสุขภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังทั้งในส่วนการเจรจาเพื่อขอข้อยกเว้น และความยืดหยุ่น ตลอดจนมีกลไกเพื่อรองรับการปรับตัว เช่น การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งประเด็นการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ กรมฯ อยู่ระหว่างหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอระดับนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องการให้การขอใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพของภาคเกษตร ผลิต และบริการของผู้ขอได้จริงในระยะยาว
ทั้งนี้ อียูถือเป็นตลาดใหญ่ ครอบคลุม 28 ประเทศในทวีปยุโรป มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ