นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความสำเร็จของไทยในฐานะประธานอาเซียนในด้านเศรษฐกิจ ว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับต่างๆ ทั้งระดับรองนายกรัฐมนตรี ระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ระดับปลัดกระทรวง ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรืออธิบดี จนถึงระดับคณะทำงาน รวมแล้วกว่า 20 การประชุม ซึ่งการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ นอกจากที่ไทยจะมีบทบาทและเป็นที่สนใจในประชาคมโลกแล้ว ไทยยังได้มีโอกาสที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ไทยให้ความสำคัญ และอาเซียนจะได้ประโยชน์ร่วมกันให้ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยั่งยืน
โดยในปีนี้ ไทยได้กำหนดประเด็นด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะร่วมกันดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 (Priority Economic Deliverables) รวม 13 ประเด็น ซึ่งขณะนี้อาเซียนดำเนินการเสร็จแล้ว 10 ประเด็น ได้แก่ (1) แผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัล (2) แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (3) การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน (4) หลักเกณฑ์กรอบการจัดตั้งกลไกการชำระเงินสกุลท้องถิ่น (5) การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (6) แนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน (7) แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน (8) การจัดทำความบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนและสถาบันวิจัยในอาเซียน และความสำเร็จล่าสุดที่ผู้นำประกาศในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ ได้แก่ (9) การประกาศแถลงการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0และ (10)การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ปและอีก 3ประเด็นที่เหลือคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งประเด็นด้านเศรษฐกิจฯ จะช่วยเตรียมความพร้อมของอาเซียนเพื่อรองรับอนาคต ส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งภายในอาเซียนและอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ
นายจุรินทร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากประเด็นด้านเศรษฐกิจฯ ที่ไทยกำหนดแล้ว ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาอาเซียนยังประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง อาทิ (1) การลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการ และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าบริการเกินความจำเป็น (2) การลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ACIA) ที่ไม่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนกำหนดเงื่อนไขที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น (3) การสรุปการเจรจาเพื่อให้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self-Certification) สามารถเริ่มใช้งานได้ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการสามารถดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป (4) การได้ข้อสรุปข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน (AP MRA) ที่เริ่มเจรจาตั้งแต่ปี 2548 ที่จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่รับรองโดยหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนของประเทศสมาชิกโดยไม่ต้องตรวจสอบซ้ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการส่งออก-นำเข้าสินค้ายานยนต์ภายในภูมิภาค (5) การมีผลบังคับใช้ของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง (AHKFTA) และความตกลงการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกง (AHKIA) เมื่อวันที่ 11 และ 17 มิถุนายน 2562 (6) การลงนามพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อปรับปรุงความตกลงฉบับเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะการเปิดเสรีการค้าสินค้า ให้รวมถึงการเปิดเสรีการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการคุ้มครองการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน
นายจุรินทร์เสริมว่า เมื่อวันที่ 31ตุลาคม ที่ผ่านมา ในช่วงการประชุม ASEAN Summit รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังได้ร่วมลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง ซึ่งเป็นความตกลงที่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยปรับปรุงพิธีสารฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ให้ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์และมีความชัดเจนมากขึ้น และสอดคล้องกับหลักการขององค์การการค้าโลก ประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งไทยจะสามารถใช้กลไกระงับข้อพิพาทใหม่ของอาเซียนในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทต่างๆ และกดดันสมาชิกให้ปฏิบัติตามพันธกรณี
ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,792 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 12.91 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,545 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,247 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเกินดุล 23,298 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
4 พฤศจิกายน 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ