กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินสายรับฟังความเห็นการฟื้นเจรจา FTA ไทย-อียู ครบ 4 ภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ พบอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป ยานยนต์และชิ้นส่วนมีความพร้อม แต่ต้องระวังประเด็นการเข้าถึงยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เตรียมชงให้ กนศ. พิจารณาพร้อมผลการศึกษา วิจัย เผยเตรียมแผนลงพื้นที่ให้ข้อมูลความคืบหน้าและรับฟังความเห็นต่อเนื่องหากได้รับไฟเขียวให้เริ่มเจรจา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงพื้นที่จัดสัมมนารับฟังความเห็นการฟื้นการเจรจาเอฟทีไทย-อียู จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม เกษตรกร และนักวิชาการในภาคอีสาน ณ โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น โดยนายทวีชัย เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาได้นำเสนอข้อมูลสำคัญที่ได้จากการศึกษา ได้แก่ ผลประโยชน์และผลกระทบในภาพรวมต่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมเปรียบเทียบสาระสำคัญในแต่ละประเด็นในข้อตกลงเอฟทีเอของอียูกับประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แสดงความเห็นร่วมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา
นางอรมน เสริมว่า การจัดสัมมนาฯ ในวันนี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 หลังจากการลงพื้นที่รับฟังความเห็นก่อนหน้านี้ 3 ครั้งในภาคตะวันออก ณ จังหวัดชลบุรี ภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องจากเวทีสัมมนาฯ ที่กรุงเทพฯ หลังจากนี้ กรมฯ จะรวบรวมผลการรับฟังความเห็นทั้งหมด และผลการศึกษาวิเคราะห์เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป ทั้งนี้ ได้ย้ำกับผู้เข้าร่วมสัมมนาว่า การลงพื้นที่ในวันนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่กรมฯ จะลงพื้นที่รับฟังความเห็น แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการสร้างความตื่นตัวให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเตรียมการฟื้นเจรจา ซึ่งเมื่อเริ่มเจรจาแล้ว กรมฯ จะยังลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลความคืบหน้า และรับฟังความเห็นอย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการจัดสัมมนาฯ ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการไทยทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น เนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป ยานยนต์ และชิ้นส่วน เป็นต้น ค่อนข้างมีความพร้อมและสนับสนุนการฟื้นเจรจาเอฟทีเอกับอียู โดยต้องการให้อียูลดอุปสรรคทั้งทางด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อขยายตลาด และรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดอียูจากประเทศอื่นที่ได้จัดทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนามและสิงคโปร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภาคประชาสังคมและนักวิชาการบางท่านได้เสนอให้การเจรจาคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสังคมที่อาจเกิดขึ้นจากข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและการเข้าถึงยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรได้เสนอให้ภาครัฐให้ความรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าของอียูที่เข้มงวด เพื่อให้สามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปอียูได้ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
ทั้งนี้ อียูถือเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคนเป็นคู่ค้าและนักลงทุนสำคัญอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น
และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน
และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
7 พฤศจิกายน 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ