กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จับมือสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ศึกษา“ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป”สำเร็จ! เตรียมเปิดเวทีเชิญทุกภาคส่วนร่วมรับฟังผล 21 พฤศจิกายนนี้ ณ โรงแรมวินเซอร์ สุขุมวิท 20 ก่อนเดินหน้าเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในวันที่ 25 พฤศจิกายน 62 ณ กระทรวงพาณิชย์
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรมอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) กำหนดจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13.00 – 16.30 น. ณโรงแรมวินเซอร์ สุขุมวิท 20 เพื่อนำเสนอผลการศึกษาวิจัยดังกล่าวให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและผู้สนใจทั่วไปได้รับทราบและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นการฟื้นการเจรจาเอฟทีไทย-อียูใน 4 ภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ พบว่ามีผู้สนใจจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก และในส่วนของการจัดสัมมนาในครั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาจะได้รับทราบผลสรุปการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการจัดทำความตกลงดังกล่าว ซึ่งกรมฯ ได้มอบหมายให้ทีมวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ดำเนินการศึกษาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้เตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในตลาดโลกได้ และภายหลังการสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 กรมฯ จะจัดการประชุมรับฟังความเห็นสาธารณะ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง และผู้สนใจเรื่องกรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ในวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ณ กระทรวงพาณิชย์ หลังจากนั้นจะรวบรวมผลการดำเนินงานทั้งหมดตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์) ที่มอบให้กรมเจรจาฯ ไปดำเนินการเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ทั้งผลการศึกษา การจัดทำกรอบเจรจา การรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากการลงพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วไทยในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562 เป็นต้น เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.4 ที่ไทยค้ากับทั่วโลก มีมูลค่าส่งออก 25,068.5 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และนำเข้า 22,273.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรม-และเภสัชกรรม
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
19 พฤศจิกายน 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ