กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการเจรจาจัดทำเอฟทีเอไทย – ตุรกี ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ สองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ในเรื่องพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ส่วนประเด็นที่เหลือ สองฝ่ายจะใช้การเจรจาที่ยืดหยุ่นต่อกันมากขึ้น หวังสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2563
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยได้เป็นเจ้าภาพการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย – ตุรกี ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 2 – 4 ธันวาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งการเจรจามีความคืบหน้าที่สำคัญ โดยทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปข้อบทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้แล้ว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการผ่านพิธีการทางศุลกากร และลดต้นทุนทางการค้าของผู้ประกอบการ ในส่วนการเจรจาข้อบทอื่น ๆ ก็มีความคืบหน้าด้วยดี โดยเฉพาะเรื่องการค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า กฎระเบียบทางเทคนิค และการเยียวยาทางการค้า ตลอดจนได้หารือเรื่องการเปิดตลาด โดยได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อข้อเสนอรายการสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายจะลด หรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกัน พร้อมทั้งตกลงแผนการประชุมในปี 2563 เพื่อเร่งรัดให้การเจรจาหาข้อสรุปและปิดรอบได้ภายในปี 2563 ตามที่ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าไว้
นางอรมน เสริมว่า ในส่วนของการเจรจาเปิดตลาด ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะกลับไปปรับปรุงข้อเสนอเปิดตลาดของตนให้สามารถสนองตอบข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายมากขึ้น เพื่อให้เอฟทีเอไทย-ตุรกี เป็นช่องทางสำคัญที่จะช่วยให้การค้าสองประเทศขยายตัวสู่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และเกิดประโยชน์ต่อภาคการผลิตและภาคธุรกิจอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เพื่อให้เอฟทีเอมีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งสองฝ่ายได้หารือที่จะเพิ่มข้อบทเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และความร่วมมือด้านสินค้าฮาลาล เป็นต้น
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยในปี 2561 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,427 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปตุรกี 1,082 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากตุรกี 345 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตุรกี เช่น อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า เส้นใยประดิษฐ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญจากตุรกี เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
4 ธันวาคม 2562
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ