รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภูฏาน มุ่งกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ พร้อมเปิดทางผู้ประกอบการภูฏานร่วมแสดงศักยภาพสินค้าในไทย
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายนัมเกย์ เซริง (H.E. Mr. Namgay Tshering) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภูฏาน ในโอกาสเดินทางเยือนไทย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 ณ กระทรวงพาณิชย์ และได้หารือกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยปัจจุบันภูฏานได้ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับและเปิดกว้างกับการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จึงเชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในภูฏาน ขณะเดียวกันภูฏานมีความสนใจที่จะจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย เพื่อใช้เป็นฐานกระจายสินค้าและเผยแพร่สินค้าศักยภาพของภูฏาน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง เห็ดมัตซึตาเกะ และถั่งเช่า เป็นต้น ให้เป็นที่รู้จักในไทยและภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ซึ่งตนได้ใช้โอกาสนี้เชิญให้ผู้ประกอบการภูฏานเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น งาน ThaiFEX กลุ่มสินค้าอาหาร งาน STYLE กลุ่มสินค้าหัตถกรรม ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน และแฟชั่น ซึ่งเป็นงานที่มีผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมงาน เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าศักยภาพของภูฏานสู่สายตาต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น
นายวีรศักดิ์ เสริมว่า ทั้งสองฝ่ายยังได้ใช้โอกาสนี้ หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 ตามที่ผู้นำสองประเทศตั้งเป้าไว้ในเมื่อปี 2561 โดยเฉพาะความร่วมมือในสาขาท่องเที่ยว เกษตร หัตถกรรม และการบริการสุขภาพ โดยปัจจุบัน ไทยมีนักธุรกิจเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่ภูฏานหลายแห่ง จึงเห็นว่าทั้งสองฝ่ายสามารถต่อยอดความร่วมมือและธุรกิจในเรื่องร้านอาหาร สปา และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ขณะที่ภูฏานแจ้งว่า ปัจจุบันมีชาวภูฏานจำนวนมากสนใจมาศึกษา และรับบริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนของไทยมากขึ้น ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถเพิ่มความร่วมมือในสาขาเหล่านี้ได้เช่นกัน
นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยให้แก่ภูฏาน และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิชาการในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย (One Tumbon One Product: OTOP) กับการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของภูฏาน (One Gewong One Product: OGOP) พร้อมกันนี้ ไทยยินดีให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ภูฏานในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนา SMEs เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ทั้งนี้ ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 130 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 7 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และเนปาล ตามลำดับ โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) การค้ารวมสองฝ่ายมีมูลค่า 39.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปภูฏาน 39.73 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผ้าผืน สิ่งทออื่นๆ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น และเป็นการนำเข้าจากภูฏาน 0.12 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
10 มกราคม 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ