กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อัพเดตสถานการณ์ภายหลังเบร็กซิท ยูเคเผยแผนยกเลิกเก็บภาษีศุลกากร และปรับลดอัตราภาษีศุลกากรที่ยูเคจะเก็บกับประเทศที่สามซึ่งไม่มีเอฟทีเอและไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีกับยูเค เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสนับสนุนการผลิตสินค้าในยูเค จะเริ่มใช้กฎระเบียบของยูเค วันที่ 1 มกราคม 2564 พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการไทยศึกษาอัตราภาษีใหม่ของยูเคและแสดงความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีใหม่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ได้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยนับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 ยูเคจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของอียู และจะเริ่มใช้กฎระเบียบของยูเคเองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการค้าระหว่างประเทศของยูเคได้เผยแพร่เอกสาร เรื่องการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรที่จะใช้กับสินค้านำเข้าจากประเทศที่สาม (ประเทศที่ไม่มีเอฟทีเอกับยูเคและประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิจีเอสพีกับยูเค) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยจะปรับอัตราภาษีศุลกากรของยูเคให้มีความเหมาะสมและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมากขึ้น โดยมีแผนที่จะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตของยูเค เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ผลิตสินค้าในยูเคและสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าภายในประเทศ และจะยกเลิกภาษีศุลกากรในสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้หรือผลิตได้อย่างจำกัดภายในประเทศของยูเค รวมทั้งจะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ปัจจุบันมีอัตราภาษีที่ร้อยละ 2.5 หรือต่ำกว่า เพื่อลดภาระด้านพิธีการศุลกากร และสำหรับสินค้าที่ปัจจุบันถูกเก็บภาษีในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 2.5 จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อลดภาษีลงในอัตราที่ต่างกัน ซึ่งอัตราภาษีที่ปรับใหม่นี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ยูเคเปิดรับความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรดังกล่าว ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2563 เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำอัตราภาษีที่เหมาะสมต่อไป โดยผู้สนใจสามารถให้ความเห็นได้ทางเว็บไซต์ www.gov.uk/government/consultations/the-uk-global-tariff จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทย ผู้ส่งออกของไทย ศึกษาข้อมูลอัตราภาษีใหม่ของยูเค และแจ้งความเห็นต่อแผนการกำหนดอัตราภาษีใหม่ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว
นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในส่วนของการยกเลิกและปรับลดอัตราภาษีที่ยูเคจะเก็บกับประเทศที่สามหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2564 นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ (1) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมร้อยละ 2.5 หรือต่ำกว่า ยูเคจะยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าในกลุ่มนี้ เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ และหน่วยเก็บเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ (2) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมไม่เกินร้อยละ 20 ยูเคจะแบ่งสินค้าเป็นระดับ (band) แต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกันร้อยละ 2.5 ประกอบด้วยอัตราภาษีที่ 17.5% 15% 12.5% 10% 7.5% 5% และ 2.5% ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้จะลดภาษีไม่เกินร้อยละ 2.5 อาทิ อัตราภาษีร้อยละ 18 จะลดลงเหลือร้อยละ 17.5 และอัตราภาษีร้อยละ 12.3 จะลดลงเหลือร้อยละ 10 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยูเคในกลุ่มนี้ เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของยานยนต์ และแว่นตา (3) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมมากกว่าร้อยละ 20 แต่ไม่เกินร้อยละ 50 แบ่งสินค้าเป็นระดับ โดยแต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกันร้อยละ 5 ประกอบด้วยอัตราภาษีที่ 45% 40% 35% 30% 25% และ 20% ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้จะลดภาษีไม่เกินร้อยละ 5 อาทิ อัตราภาษีร้อยละ 22 จะลดลงเหลือร้อยละ 20 และอัตราภาษีร้อยละ 48 จะลดลงเหลือร้อยละ 45 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังยูเคในกลุ่มนี้ เช่น ปลาแปรรูป และยานยนต์น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน และ (4) สินค้าที่มีอัตราภาษีเดิมร้อยละ 50 หรือมากกว่า แบ่งสินค้าเป็นระดับ โดยแต่ละระดับมีอัตราภาษีห่างกันร้อยละ 10 (อาทิ 60% 70% 80% และ 90%) เช่น อัตราภาษีร้อยละ 68 จะลดลงเหลือร้อยละ 60 สินค้าในกลุ่มนี้ เช่น ยาสูบ
นางอรมน เสริมว่า นอกจากการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรข้างต้นแล้ว ยูเคยังจะต้องเร่งเจรจาจัดสรรโควตาสินค้าเกษตรบางรายการกับสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ใหม่ด้วย เนื่องจากไม่สามารถใช้โควตาร่วมกับอียูได้อีกต่อไปภายหลังวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยไทยมีสินค้าที่ต้องเจรจาจัดสรรโควตาใหม่กับยูเค 32 รายการ เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง ซึ่งกรมฯ อยู่ระหว่างเจรจากับผู้แทนของยูเคและอียู โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวมไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับเมื่อตอนที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู
ทั้งนี้ การค้าไทยกับยูเคในปี 2562 มีมูลค่ารวม 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.04 โดยไทยส่งออกไปยูเค 3,843 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้นและไทยนำเข้าจากยูเค 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
12 กุมภาพันธ์ 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ