กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีสัมมนา “เข้าใจ Brexit พลิกสัมพันธ์การค้ากับยุโรป” กางแผนเจรจาและการเตรียมพร้อมของไทย อาทิ เจรจาแก้ไขการจัดสรรโควตาภาษีภายใต้ WTO กับอียูและยูเค จัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าไทยและยูเค และโอกาสในการทำ FTA กับยูเค เชื่อจะช่วย ชี้โอกาสขยายการค้าและการลงทุนในตลาดยูเค ตลอดจนช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือ Brexit ได้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังกล่าวเปิดการสัมมนาเรื่อง “เข้าใจ Brexit พลิกสัมพันธ์การค้ากับยุโรป” ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต สหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย และสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council: TUBLC) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ ว่า ปี 2563 เป็นปีที่ไทยและสหราชอาณาจักร (ยูเค) สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 165 ปี และเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญ คือ การออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของยูเค หรือ “เบร็กซิท” จึงได้จัดสัมมนาสร้างความเข้าใจเรื่องเบร็กซิท พร้อมเผยโอกาสในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและยูเค
นางอรมน กล่าวว่า การถอนตัวออกจากอียูของยูเคจะมีผลสมบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 และหลังจากนั้น ยูเคจะมีอัตราภาษีและมีกฎระเบียบทางการค้าแยกจากอียู ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมการรองรับ เช่น (1) เจรจากับอียูและยูเค ในฐานะสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีภายใต้ WTO เนื่องจากทั้งยูเคและอียูจะต้องมีการจัดสรรโควตาใหม่ให้กับสมาชิก WTO รวมทั้งไทย ในสินค้า เช่น มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น โดยยึดหลักการว่าโควตาใหม่ที่ไทยจะได้รับจัดสรรจากทั้งยูเคและอียู เมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับเมื่อสมัยยูเคยังรวมอยู่ในอียู (2) จัดทำรายงานการทบทวนนโยบายการค้าระหว่างไทยและยูเค หรือ Trade Policy Review (TPR) เพื่อศึกษาภาพรวมการค้าระหว่างสองฝ่าย โอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนในสาขาธุรกิจที่ไทยสนใจ หรือมีศักยภาพในตลาดยูเค รวมถึงมาตรการของยูเคที่จะเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต โดยผลการจัดทำรายงานกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2563 (3) ศึกษาความเป็นไปได้ในการทำ FTA ระหว่างไทยกับยูเค และ (4) ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก เรื่องเบร็กซิทและการเตรียมการของไทย
นางอรมน เสริมว่า จากรายงานการทบทวนนโยบายการค้าฯ เบื้องต้นพบว่า สาขาธุรกิจ/อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยมีศักยภาพในตลาดยูเค เช่น เกษตรกรรมและการผลิตอาหาร (เนื้อไก่ ผลไม้ อาหารเสริม และอาหารสัตว์เลี้ยง) การประมง (อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง ปลาทูน่า กุ้ง) ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ภาคบริการและลงทุนที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง การเงิน โทรคมนาคม และการก่อสร้าง อย่างไรก็ดี ยูเคยังมีมาตรการภาษีและที่มิใช่ภาษีที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของไทย เช่น การเก็บภาษีสูงในสินค้าเกษตรและประมง การกำหนดมาตรการสุขอนามัยที่มีมาตรฐานสูง เช่น ระดับสารปนเปื้อน และสารเคมีตกค้าง ตลอดจนมาตรฐานทางเทคนิคต่างๆ เช่น การติดฉลากและบรรจุภัณฑ์ มาตรการ IUU ที่ต่อต้านสินค้าประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการควบคุม เป็นต้น ซึ่งไทยจะนำรายงานทบทวนนโยบายการค้าที่จัดทำ หารือกับฝ่ายยูเคที่มีการจัดทำรายงานนโยบายการค้าของไทยเช่นกัน เพื่อจัดทำเป็นรายงานร่วมกัน (joint TPR report) และจะนำไปสู่การหารือเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และอาจปูทางไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต
“ขอให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยูเค ติดตามสถานการณ์ตลาด กฎระเบียบทางการค้าของยูเค และศึกษาความต้องการของผู้บริโภคยูเคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย สวัสดิภาพของแรงงาน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมปรับตัววางแผนกลยุทธ์ที่การประชาสัมพันธ์ การเข้าถึงตลาดและการกระจายสินค้า รวมถึงสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จัก ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด จัดฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยเป็นประจำ โดยผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ได้” นางอรมน กล่าว
ทั้งนี้ ยูเคเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทย ในปี 2562 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 6.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยูเค 3.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากยูเค 2.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวรจรไฟฟ้า เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลม และสุรา เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สบู่ ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
9 มีนาคม 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ