รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พอใจ หลังกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เดินหน้าหารือกลุ่มเกษตรกรชาจังหวัดเชียงรายผ่านระบบทางไกลช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้านกรมเจรจาฯ แจงผลหลังหารือ เบื้องต้นแนะเกษตรกรเพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ และเตรียมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเหลือเยียวยาพร้อมหาตลาดและจับคู่ธุรกิจ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือกับกลุ่มเกษตรกรชาที่กรมฯ เคยลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ โดยสอบถามปัญหาและความต้องการ เพื่อเร่งหามาตรการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการชาไทย ในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้อย่างตรงจุด เช่น การจับคู่ธุรกิจ และการหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากชาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ในปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้ลงพื้นที่เพื่อแนะนำเรื่องขยายตลาดส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอแก่เกษตรกรและผู้ประกอบการชาไทยในภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งมีการปลูกชาอยู่มาก รวมถึงมีเกษตรและผู้ประกอบการชาที่มีศักยภาพ ดังนั้น ในครั้งนี้ กรมฯ จึงได้จัดประชุมผ่านระบบทางไกลกับเกษตรกรและผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว เช่น ชาวาวี ชาโชคจำเริญ สวรรค์บนดิน101 ไทยโทน วังพัดตาย ใบชามิ่งดี และเสริมลักษณ์ชาไทย เป็นต้น เพื่อสอบถามข้อกังวลในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเชิญพาณิชย์จังหวัดเชียงราย (นางวนิดา ทิพย์ศักดิ์) เข้าร่วมการหารือด้วย
นางอรมน กล่าวว่า การหารือออนไลน์ครั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกและผลิตชามีข้อกังวลเรื่องการหาตลาด และระบบการขนส่ง ซึ่งพาณิชย์จังหวัดเชียงรายแจ้งว่า ด่านขนส่งสินค้าที่พรมแดนของเชียงรายยังคงเปิดทำการปกติ ทั้งด่านบริเวณสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 4 อ.เชียงของ และด่านระหว่างจีน-ลาว (บ่อหาน-บ่อเต็น) แต่อาจล่าช้าไปบ้างเนื่องจากมีข้อปฏิบัติที่เข้มงวดขึ้น ในเรื่องการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อและการปฏิบัติตัวของพนักงานขับรถ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะช่วยแนะนำการหาตลาดและจับคู่ธุรกิจ เพิ่มช่องทางการตลาดออนไลน์ และงานแสดงสินค้าออนไลน์ที่จะจัดขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งกรมฯ จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยด้านการตลาดและจับคู่ธุรกิจตามความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการกลุ่มชาต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) ไทยเป็นผู้ส่งออกชาสำเร็จรูปอันดับ 11 ของโลก มีปริมาณการส่งออกเฉลี่ย 9,168 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา สหรัฐฯ สปป.ลาว จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ขณะที่ไทยส่งออกชาเขียวเฉลี่ย 980 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.35 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกชาดำ เฉลี่ย 1,508 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6.15 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
22 เมษายน 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ