- การห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อนั้น ไม่เป็นความจริง เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมถึงสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
- สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง ก็มีข้อยกเว้นที่อนุญาตให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไว้ใช้เพาะปลูกต่อในพื้นที่ของตนได้ และยังสามารถนำพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ (ตาม UPOV 1991 Article 15)
- เมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์หรือได้พันธุ์คุ้มครองมาอย่างถูกต้อง เกษตรกรมีสิทธิเพาะปลูกและจำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เกิดได้โดยไม่ผิดกฎหมายและไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์
- การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทเอกชนนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก UPOV 1991 ให้การคุ้มครองสิทธิแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเฉพาะบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักวิจัยภาครัฐ นักปรับปรุงพันธุ์พืชอิสระ นักศึกษา เกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้
- ทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ทั้งหลายมีความมั่นใจเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชมากขึ้น ทำให้มีพันธุ์พืชใหม่ๆ ชนิดพืชที่หลากหลายออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขันด้วยเรื่องความดีเด่นของพันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะช่วยลดการผูกขาดด้านการค้าเมล็ดพันธุ์ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะรายใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท
- UPOV 1991 ไม่มีข้อใดที่ห้ามหรือลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ (Access and Benefit-Sharing: ABS) และไทยก็เป็นสมาชิกของอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ซึ่งไทยก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้ หลายประเทศก็เป็นสมาชิกทั้งอนุสัญญา UPOV1991 และอนุสัญญา CBD เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา และประเทศในยุโรป
- ราคาเมล็ดพันธุ์พืชในประเทศจะแพงขึ้น เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เนื่องจาก ราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจจะเพิ่มขึ้น ก็อาจจะจำกัดเฉพาะในกลุ่มพันธุ์พืชใหม่ที่จดทะเบียนคุ้มครองเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง โดยราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดจะถูกกำหนดด้วยความดีเด่นหรือคุณค่าของพันธุ์และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ และการได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ซึ่งหากเกษตรกรเห็นว่าแพงไป ขายผลผลิตแล้วไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน เกษตรกรก็สามารถเลือกที่จะไม่ซื้อ แล้วไปซื้อพันธุ์อื่นที่ถูกกว่าได้ นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเลือกใช้พันธุ์ของหน่วยงานรัฐได้เช่นกัน
- ทั้งนี้ การมีพันธุ์พืชใหม่ที่หลากหลายออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องถือเป็นข้อดี ให้เกษตรกรได้มีทางเลือกมากขึ้น เลือกซื้อพันธุ์ที่มีลักษณะตามความต้องการของตลาด ขายผลผลิตได้ราคา
- การต้องเปิดให้สินค้า GMO เข้าในประเทศนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ความตกลง CPTPP ไม่ได้กำหนดให้สมาชิกต้องปรับกฎหมายภายในประเทศในเรื่องสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Biotechnology) แต่อย่างใด และปัจจุบันไทยยังไม่อนุญาตให้ปลูกหรือทำการค้าพืช GMOs ได้อย่างเสรี โดยพืช GMOs เป็นสิ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ. กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- การอ้างว่าเข้าร่วมความตกลง CPTPP จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) หรือมีผลให้ใช้ CL ได้ยากขึ้นนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากความตกลง CPTPP ข้อ 18.41 กำหนดไว้ชัดว่าไม่มีข้อบทใดจำกัดสิทธิของสมาชิกในการใช้มาตรการ CL ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) อีกทั้ง ข้อ 18.6 ยังยืนยันสิทธิของประเทศสมาชิกในการใช้มาตรการเพื่อปกป้องการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประชาชน
- การที่ความตกลง CPTPP กล่าวถึงสิทธิของสมาชิกในการประเมินสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ โดยมิได้กล่าวคำว่า “การใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า” (Public Non-Commercial Use) จะแปลเอาเองว่า สมาชิก CPTPP ไม่มีสิทธิใช้มาตรการ CL เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า นั้น ไม่ถูกต้อง แท้จริงแล้วข้อความในส่วนที่มีการกล่าวอ้างนี้เพียงแนวทางการพิจารณาสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่นำมาจากปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์และการสาธารณสุข (Doha Declaration on TRIPS and Public Health ย่อหน้าที่ 4 และ 5(c))
- การกล่าวอ้างว่าแม้สมาชิก CPTPP จะสามารถใช้มาตรการ CL ได้ แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง โดยนักลงทุน ตามข้อบทการลงทุน (Investment) นั้น ไม่เป็นความจริง ข้อบทการลงทุน ข้อ 9.8 เรื่องการเวนคืน (Expropriation) ย่อหน้าที่ 5 กำหนดไว้ชัดเจนว่าไม่ให้นำเรื่องนักลงทุนฟ้องรัฐมาใช้กับกรณีการใช้มาตรการ CL ที่สอดคล้องกับข้อบททรัพย์สินทางปัญญาและความตกลงทริปส์
- นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement) ในข้อ 28.3.1.(c) เกี่ยวกับ non-violation complaint ก็ยังไม่ได้รวมถึงประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
- จากการศึกษาข้อบท CPTPP ในทุกประเด็นอย่างละเอียดแล้ว ยืนยันได้ว่า หากไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ไทยจะยังมีสิทธิบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ตามกรอบความตกลงทริปส์ของ WTO ดังเช่นที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบันทุกประการ และจะไม่ทำให้ไทยถูกกล่าวหาว่าละเมิดความตกลง CPTPP และไม่เป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกฟ้องร้องแต่อย่างใด
- การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้การเข้าถึงยาสามัญช้าลงนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อบทเรื่องการเชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรและระบบการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage) เป็นข้อบทที่มีความยืดหยุ่น ที่ให้สมาชิกมีทางเลือกเชิงนโยบายสำหรับจัดตั้งระบบดังกล่าวในลักษณะที่จะเป็นประโยชน์กับแต่ละประเทศได้
- ความตกลง CPTPP ให้สมาชิกสามารถเลือกรูปแบบที่มีความยืดหยุ่นได้ โดยระบุไว้ 2 ทางเลือก คือ
(1) ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญได้แม้ยาต้นแบบจะยังไม่หมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร เพียงแต่ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบ และมีการเยียวยาที่เหมาะสมหากมีการการละเมิด หรือ
(2) ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของสิทธิบัตร
- ในเบื้องต้น ไทยอาจพิจารณาทางเลือกที่ (1) เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยยังคงทำให้ไทยสามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาสามัญได้แม้ยาต้นแบบยังไม่หมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร ซึ่งจะไม่ทำให้ยาสามัญเข้าสู่ตลาดได้ช้าลง ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศสมาชิก CPTPP บางประเทศ เช่น นิวซีแลนด์
ที่ใช้เพียงการนำรายชื่อผู้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาขึ้นเผยแพร่บน website เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นการสร้างภาระให้กับหน่วยงานภาครัฐ
- ความตกลง CPTPP ยังให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐได้ ถ้ามูลค่าโครงการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และยังมีระยะเวลาการปรับตัว
- ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย ขอระยะเวลาปรับตัวนานถึง 20 ปี เวียดนาม ขอระยะเวลาปรับตัวนานถึง 25 ปี โดยมาเลเซีย และเวียดนาม กำหนดมูลค่าขั้นต่ำการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในช่วงแรกที่ 65-86 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างที่ 2,700 – 2,800 ล้านบาท โดยมีเวลาปรับตัว 7-25 ปี ในการทยอยลดมูลค่าขั้นต่ำในการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการเหลือ 5.6 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างเหลือ 367-605 ล้านบาท
- ไทยต้องเปิดให้สินค้า Remanufactured goods ซึ่งรวมถึงเครื่องมือแพทย์มือสอง และสินค้าขยะเข้ามาในไทยได้นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจาก ความตกลง CPTPP ระบุนิยามของสินค้า Remanufactured goods ว่าต้องมีอายุการใช้งานและคุณภาพใช้งานเช่นเดียวกับสินค้าใหม่ และต้องได้รับการรับรองจากโรงงานว่าสามารถใช้ได้เช่นเดียวกันกับสินค้าใหม่ ดังนั้น สินค้า Remanufactured goods จึงไม่ใช่สินค้ามือสอง และเป็นคนละประเด็นกับการนำเข้าขยะมาในประเทศ ทั้งนี้ หากเป็นสินค้าเครื่องมือแพทย์มือสอง ไทยยังคงห้ามนำเข้าได้ตาม พรบ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 (หมวด 6 การควบคุมเครื่องมือแพทย์)
- แม้ความตกลง CPTPP จะห้ามการระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลากเครื่องสำอาง แต่ไทยก็อาจพิจารณาใช้เครื่องมืออื่นทดแทนการระบุเลขที่จดแจ้งบนฉลาก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงสามารถตรวจสอบความถูกต้องและสืบค้นผลิตภัณฑ์ได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
27 เมษายน 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ