กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนชงจัดประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจสมัยพิเศษพฤษภาคมนี้ รับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 แง้มข่าวดี เวียดนามพร้อมลงนาม MRA ยานยนต์ ขณะที่ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนจะเริ่มใช้งานได้ภายในวันที่ 1 กันยายน ปีนี้ แน่นอน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 2/51 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 27-28 เมษายนที่ผ่านมา โดยไฮไลท์สำคัญของการประชุมคือการเร่งหาแนวทางรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพื่อให้การค้าการลงทุนเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งที่ประชุมตกลงเสนอให้มีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษ (Special AEM) ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาร่างแผนงานที่เจ้าหน้าที่อาวุโสจะจัดทำขึ้น ตามที่ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายไว้ในการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563
นายดวงอาทิตย์ เพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้มีข่าวดีสำหรับกลุ่มสินค้ายานยนต์ โดยเวียดนามพร้อมลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ยานยนต์ได้ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 52 เดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่การหารือจัดทำ MRA สินค้าวัสดุก่อสร้างคาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในเร็ววัน ทั้งนี้ เมื่อ MRA มีผลบังคับใช้จะทำให้การส่งออกสินค้ายานยนต์และวัสดุก่อสร้างไปยังประเทศสมาชิกมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องตรวจสอบรับรองมาตราฐานซ้ำอีก หากผ่านการตรวจรับรองจากต้นทางแล้ว นอกจากนี้ ในส่วนของระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองที่เป็นระบบเดียวกันทั้งอาเซียนนั้น ทุกประเทศยืนยันว่าจะสามารถเริ่มใช้งานได้ภายในวันที่ 1 กันายน 2563 แน่นอน
นายดวงอาทิตย์ เสริมว่า อาเซียนยังได้หารือกับประเทศคู่เจรจาที่สำคัญอีก 5 การประชุม ประกอบด้วย (1) จีน ได้ตกลงที่จะมีถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีในเรื่องการกระชับความร่วมมือภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-จีน และการรับมือกับโควิด-19 (2) ญี่ปุ่น หารือแผนปฏิบัติการภายใต้ถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นเรื่องความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และการเร่งรัดการมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งได้เพิ่มเรื่องการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการลงทุน ในความตกลง AJCEP ซึ่งญี่ปุ่นกำลังจะให้สัตยาบัน ซึ่งจะทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับประมาณกลางปีนี้ (3) เกาหลี หารือแนวทางการเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลี (AKTIGA) และหารือแนวทางและมาตรการในการรับมือโควิด-19 โดยตกลงที่จะมีถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีในเรื่องนี้ (4) การหารืออาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ได้ตกลงที่จะให้มีถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามในเรื่องการรับมือทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และหารือการจัดทำการศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศอาเซียนบวกสาม (5) แคนาดา เรื่องความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับแคนาดา โดยแคนาดาพร้อมจะสนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้ในสาขาที่อาเซียนยังขาดประสบการณ์ให้อาเซียนผ่านระบบทางไกลอีกด้วย
ทั้งนี้ ในปี 2562 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนการค้าระหว่างไทยกับจีน มีมูลค่า 79,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น 57,780 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกาหลี 13,367 ล้านเหรียญสหรัฐ
1 พฤษภาคม 2563
ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ